รู้ไหมว่า ปลาแซลมอนเดินทางไกลได้ถึง 3,000 กิโลเมตรเพื่อไปวางไข่
ปลาแซลมอนเมื่อเกิดมามันจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่มันเกิด และเมื่อโตเต็มวัย มันจะเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในทะเล และเมื่อถึงฤดูวางไข่ มันจะเดินทางกลับไปวางไข่ในแหล่งน้ำที่มันกำเนิดมา บางครั้งมันอาจต้องเดินทางไกลถึง 3,000 กิโลเมตร ผ่านอุปสรรคที่มีมากมายเช่น ว่ายทวนกระแสน้ำ โตรกหิน น้ำตก หรืออุปสรรคอื่นๆ ที่ขวางกั้นมันอยู่
การที่ปลาแซลมอนสามารถจำตำแหน่งที่มันเกิดขึ้นมาได้นั้น มีนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า มันสามารถใช้ความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกเป็นสิ่งนำทางในการเดินทางย้อนไปยังถิ่นกำเนิด ปลาแซลมอนสามารถกระโดดได้สูงถึง 3.65 เมตรขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ซึ่งช่วยให้มันสามารถข้ามอุปสรรคในเส้นทางเพื่อไปยังแหล่งน้ำต้นกำเนิดเพื่อวางไข่
ปลาแซลมอนตัวเมียสามารถวางไข่ได้มากถึง 1,500-10,000 ฟองในหนึ่งฤดูวางไข่ ถึงแม้แม่ปลาแต่ละตัวจะวางไข่ได้จำนวนมาก แต่จะมีเหลือรอดไปเป็นแซลมอนที่โตเต็มวัยเพียงแค่ 0-10 ตัวจากไข่จำนวน 10,000 ฟองนั้น
ข้อมูลอ้างอิง : USGS, Wikipedia, USGS Western Fisheries Center, Pacific Salmon Foundation