เก่งขึ้นทุกวัน - ความรู้รอบตัวใน 1 นาที

View Original

การเตรียมตัวไปเที่ยว สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนอีกครั้ง โดยเว้นระยะห่างจากครั้งที่ผมไปเยือนสต็อกโฮล์มครั้งแรกอยู่ 8 ปี ซึ่งครั้งนี้ผมลองสังเกตดูการใช้ชีวิตในฐานะนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนกรุงสต๊อกโฮล์ม อยู่เกือบ 10 วัน พบว่าการใช้ชีวิตในเมืองนี้ มีบางสิ่งบางอย่าง แตกต่างออกไปจากการไปเยือนเมื่อครั้งก่อน ซึ่งครั้งนี้ ผมได้ลองเขียนออกมาเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจไปเที่ยวสต็อกโฮล์มหรือประเทศสวีเดนครับ

การเดินทางในครั้งนี้ ผมมีแผนเดินทางไปเที่ยวสามประเทศคือ สต็อกโฮล์ม (Stockholm) และเมืองเฟลียน (Flen - อ่านตามภาษาสวีเดน ต้องอ่านว่าเฟลียน มิใช่เฟลนครับ) ซึ่งอยู่ในประเทศสวีเดน , เฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ และ โคเปนเฮเกน (Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมืองหลวงของประเทศนั้นๆ ยกเว้นเมืองเฟลียน ซึ่งเป็นเมืองต่างจังหวัดในประเทศสวีเดน แต่ในบทความนี้ ผมจะขอแนะนำสิ่งที่เราจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ ในการเที่ยวในประเทศสวีเดนเป็นหลักครับ


เที่ยวสวีเดนแบบ Cashless ไม่ต้องแลกเงินสดไปก็ได้

เมื่อ 8 ปีก่อน ตอนผมไปเที่ยวสวีเดนในคร้้งนั้น ก็มีเตรียมตัวแลกเงินสด ซึ่งเป็นเงินสกุล โครนาสวีเดน (SEK) แล้วได้ใช้อยู่บ้าง แต่การเดินทางในครั้งนี้ เพื่อนผมที่อยู่สวีเดนบอกว่า ไม่ต้องแลกเงินสดมา เพราะสวีเดนเดี๋ยวนี้แคชเลสกันหมดแล้ว คือใช้บัตรเครดิตได้หมด แม้กระทัั่งการจ่ายเงินเล็กๆน้อยๆ ในร้านสะดวกซื้อก็ตาม

ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ผมเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจมากนัก เพราะถ้าเราไม่มีเงินสดติดตัวไปด้วยเลย ก็ไม่คุ้น เลยพยายามจะหาแลกไปบ้าง แต่จะแลกเงินเป็นจำนวนน้อยๆ มากๆ แค่เอาไว้ติดกระเป๋า แต่ปรากฎว่า ร้านแลกเงินในเมืองไทย ไม่ค่อยมีเงินสกุล โครนาสวีเดน หรือโครเนอเดนมาร์ก ให้แลกแล้ว คือเรียกได้ว่ายกเลิกการรับแลกไปแล้ว ผมจึงแลกเงินสกุลยูโรไปติดตัวไว้แทน เพราะคิดว่าถ้าจำเป็นต้องแลกเงินเมื่อถึงเมืองต่างๆ เอายูโรไปแลกน่าจะง่ายกว่าเอาเงินบาทไปแลก

ซึ่งผมกลับมาจากทริปเดินทางทั้งสามประเทศมาด้วยเงินยูโรจำนวนเท่าเดิมกับที่แลกไปเต็มจำนวน ไม่ได้ใช้เงินสดเลยสักครั้งเดียว ในการเดินทางทั้งสามประเทศนี้ โดยการชำระเงินทั้งหมด ผมสามารถใช้บัตรเครดิตชำระได้ทั้งหมด ทั้งตั๋วรถไฟ ค่าน้ำค่าอาหารในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ ร้านผลไม้ข้างทาง ฯลฯ ใช้บัตรเครดิตได้หมด ไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำในการชำระด้วยบัตรเครดิต

การนำบัตรเครดิตไปใช้งานท่องเที่ยว อย่าลืมโทรแจ้งใช้งานกับธนาคารเจ้าของบัตรก่อนเดินทาง

ทีนี้พอประเทศที่เราจะเดินทางไปเที่ยว ไม่ต้องได้ใช้เงินสด และจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตเป็นหลักแล้ว เราต้องมั่นใจว่าบัตรเครดิตเราต้องใช้งานได้ เมื่อถึงหน้างาน โดยในช่วงก่อนเดินทาง ภรรยาผมบอกว่าเราต้องโทรแจ้งบัตรเครดิตว่าเราจะมีการนำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศก่อน

สิ่งนี้ค่อนข้างทำให้ผมแปลกใจเหมือนกัน เพราะว่าเมื่อก่อน ตอนผมเดินทางไปต่างประเทศ แทบไม่เคยต้องแจ้งกับธนาคารเลยว่าต้องการนำบัตรไปใช้ที่ไหน แต่ช่วงระยะหลัง ผมก็เริ่มสังเกตเห็นได้ว่า มักจะมี SMS จากธนาคารมาเตือน หรือสั่งระงับใช้บัตรเครดิตเราชั่วคราว หากธนาคารสังเกตเห็นว่ามีการใช้บัตรเครดิตที่ผิดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่ามีมิจฉาชีพ มาโกงหรือขโมยข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้ ทางธนาคารจะให้เรายืนยันธุรกรรมนั้นๆ ก่อน ซึ่งบางครั้ง เราไ่ม่ทันได้อ่าน SMS ก็พบกว่า ธนาคารระงับการใช้บัตรชั่วคราว เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ นำบัตรเครดิตของเราไปใช้

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ผมเลยทำการโทรไปแจ้งธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตทุกๆ ใบ ที่ผมจะนำไปใช้ในต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่จะถามว่าจะนำบัตรไปใช้ประเทศใด ในช่วงวันที่เท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารทราบ และไม่ได้ระงับใช้บัตรเครดิต เมื่อเห็นรายการบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นในต่างประเทศครับ ซึ่งผมคิดว่าการโทรทางไกลเพื่อคุยกับธนาคารในระหว่างเดินทาง ก็อาจจะไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ครับ เตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้า ให้การเดินทางของเราราบรื่นดีกว่าครับ

การเดินทางภายในประเทศสวีเดน

การเดินทางท่องเที่ยวในกรุงสต็อกโฮล์มนั้น ค่อนข้างสะดวกและมีหลายทางเลือกครับ เริ่มต้นจากถ้าเราเดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่สนามบินอาร์ลันด้า เมืองสต็อกโฮล์ม ก็สามารถเริ่มต้นเข้าเมืองด้วยวิธีที่ง่ายๆ ด้วย

  • รถไฟ Arlanda Express โดยรถไฟด่วน Arlanda Express นี้สามารถพาคุณเดินทางจากสนามบิน Arlanda ไปยังใจกลางเมืองสต็อกโฮล์มที่สถานีรถไฟกลางสต็อกโฮล์ม (T-Centralen) ได้ในเวลาเพียง 20 นาทีครับ โดยสามารถซื้อตั๋วได้ที่ตู้ kios ของ Arlanda Express ที่สนามบินได้เลย ราคาเที่ยวเดียวต่อคนอยู่ที่ 340 SEK แต่ถ้าซื้อสองคน ก็จะได้ส่วนลดครับ ของผมจ่ายไปสองคน คำนวนเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 1,588 บาทครับ ตกคนละ 794 บาทต่อเที่ยวครับ

ถ้าเที่ยวในเมืองและเป็นระยะทางใกล้ๆ ก็มีทางเลือกอยู่หลายอย่างครับ

  • การเดิน ซึ่งการเลือกเดินในประเทศสวีเดน โดยเฉพาะกรุงสต็อกโฮล์มก็ถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและประหยัดครับ ที่ต้องบอกว่าประหยัด เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในประเทศสวีเดนนั้นราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศไทยของเรา โดยที่ประเทศสวีเดน ผู้ที่ขับรถยนต์ หรือใช้รถจักรยานบนท้องถนน ต้องให้ความสำคัญกับคนที่ข้ามถนนมากที่สุด โดยเฉพาะเวลาข้ามทางม้าลาย รถยนต์ที่อยู่บนถนน ต้องหยุดให้คนข้ามถนนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นไฟแดงหรือไฟเขียว รถยนต์มักจะหยุดให้คนข้ามก่อนเสมอ วันแรกๆ ที่ผมไปถึงสต็อกโฮล์ม ตอนเดินข้ามถนนก็จะเก้ๆ กังๆ หน่อยเพราะว่า รถยนต์จะขับเลนขวา ซึ่งต่างจากบ้านเราที่จะขับเลนซ้าย ตอนข้ามถนนผมเลยต้องมองซ้ายมองขวาหลายรอบก่อนข้าม และอาจจะชินกับบ้านเราที่ว่า ข้ามถนนบนทางม้าลายอาจไม่รู้สึกปลอดภัยหากมีรถฝ่าไฟแดงมาชนเรา แต่ที่สต็อกโฮล์ม ผู้ใช้รถใช้ถนน มีวินัยกันอย่างมาก เราสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยมากครับ

  • จักรยาน การเดินทางด้วยจักรยานในสต็อกโฮล์ม ก็มีการใช้งานกันอย่างจริงจังมากครับ ทั้งชาวเมืองสต๊อกโฮล์มและนักท่องเที่ยว ด้วยเพราะเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในแถบประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียนี้ มีทางเฉพาะสำหรับจักรยาน ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้จักรยานเดินทางในเมือง และทางเลือกในการใช้จักรยานของนักท่องเที่ยว เพราะมีทั้งจักรยานไฟฟ้า และจักรยานธรรมดาให้เช่า ซึ่งในการเช่านี้ก็มีทั้งการเช่าจักรยานจากร้านให้เช่าจักรยาน หรือเช่าจักรยานจากแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งเราสามารถมองหารถจักรยานสีสันสวยงามที่มีชื่อ app ต่างๆ จอดอยู่ตามท้องถนน เราจะดูออกเลยว่าเป็นรถจักรยานให้เช่า แล้วเราสามารถสแกน QR code ที่จักรยาน เพื่อดาวน์โหลดแอป เพื่อเริ่มใช้งานได้ทันที แน่นอนว่า สามารถชำระด้วยบัตรเครดิตได้เช่นกัน ซึ่งผมมองว่า ข้อดีของการเช่าจักรยานจากแอปเหล่านี้คือ ขี่ไปไหนก็ได้ เมื่อถึงที่หมายที่เราต้องการ ก็จอดจักรยานทิ้งไว้ได้เลย ส่วนขากลับเราก็สามารถกลับด้วยวิธีไหนก็ได้ เพราะบางทีจุดที่เราจอดจักรยานไว้ที่นึง แต่เราเดินเที่ยวไปไกลแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเอาจักรยานคันเดิน เราสามารถมองหาจักรยานคันอื่นที่อยู่ใกล้ๆ เราได้ทันที แต่ถ้าเราเช่าจักรยานจากร้านให้เช่า เราต้องพาจักรยานไปกับเราตลอดระยะเวลาเช่า และต้องนำจักรยานไปคืนที่ร้าน

  • สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า หรือ e-scooter ก็ค่อนข้างเป็นที่นิยมใช้ในการเดินทาง เพราะเป็นการเช่ากับทางแอปพลิเคชั่นเหมือนกัน บางแอปที่ให้เช่า ก็มีให้เลือกทั้งจักรยาน และ e-scooter เลยครับ บางจุดเจอจักรยานก็เช่าจักรยาน บางจุดเจอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ก็เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแทน ค่อนข้างคล่องตัวครับ โดยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านี้ ก็จะสามารถขับขี่โดยใช้ทางจักรยานได้เช่นเดียวกันครับ

  • แท็กซี่ ซึ่งราคาค่าบริการของรถแท็กซี่ค่อนข้างสูงกว่าค่าบริการรถสาธารณะมาก แต่ผมเองก็เลือกใช้แท็กซี่ตอนที่ลงจากรถไฟ Arlanda Express ที่สถานีกลาง เพื่อที่จะขนกระเป๋าเดินทางไปโรงแรมที่จองไว้ครับ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ค่าแท็กซี่ประมาณ 822 บาท ซึ่งการเรียกรถแท็กซี่ เราสามารถใช้วิธีเรียกรถจากแอปเช่น Bolt หรือว่าจะเรียกจากแท็กซี่ที่จอดรอถามสถานที่สำคัญต่างๆ ได้ ค่าบริการส่วนใหญ่เป็นแบบมิเตอร์ครับ

ส่วนการเดินทางในเมืองแบบระยะกลาง หรือระยะแบบหลายกิโลเมตร แบบที่เราอาจจะไม่อยากขี่จักรยานไปไกลๆ ก็เลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ โดยมีทางเลือกหลายทางดังนี้ครับ

  • รถไฟใต้ดิน (Metro) ก็ค่อนข้างสะดวก เพราะครอบคลุมจุดท่องเที่ยวหลักๆ ทั้งในเมืองและชานเมือง ผมได้ลองเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินเช่นกัน ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวแบบเรา แนะนำให้ซื้อบัตร SL Access Card โดยบริษัท SL (ซึ่งให้บริการการเดินทางหลายประเภท เช่นรถไฟใต้ดิน รถเมล์ เรือ รถราง เป็นต้น) ถ้าซื้อ SL Access Card ก็จะสามารถใช้กับรถหลากหลายชนิดตราบใดที่ยังเป็นของบริษัท SL อยู่ครับ โดยสามารถซื้อตั๋วได้ทั้งแบบเที่ยวเดียวราคา 39 SEK หรือเที่ยวละประมาณ 130 บาท (ซึ่งจะจำกัดเวลาเดินทางที่ 75 นาที) หรือตั๋วแบบเหมาเช่น ตั๋ว 24 ชั่วโมง ราคา 165 SEK, ตั๋ว 72 ชั่วโมง ราคา 330 SEK และตั๋วแบบ 7 วัน ราคา 430 SEK โดยการใช้งานก็คือมีการแตะบัตรเข้าออกที่สถานีรถไฟฟ้า

  • รถเมล์ (Bus) ก็มีการให้บริการครอบคลุมไปทั่วเมือง เวลาเดินทางในสต็อกโฮล์ม ผมมักจะให้ Google Map ค้นหาสถานที่จะไป แล้วก็เลือกการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ซึ่ง Google Map จะแนะนำว่าผมต้องใช้รถชนิดใด บางครั้งก็มีใช้รถไฟใต้ดิน ไปต่อรถบัส ซึ่งโดยมากก็ขึ้นไม่ยาก เพราะใน Google map จะบอกว่าเราต้องขึ้นป้ายไหน ลงป้ายไหน รวมทั้งหมดกี่ป้ายก่อนจะลง และบนรถบัสก็มีจอบอกว่าเรากำลังจะมุ่งหน้าไปป้ายไหน ป้ายต่อไปชื่ออะไร ค่อนข้างง่ายไม่ต้องถามใครครับ แค่เราต้องมีตั๋วรถ SL Access Card ไว้กับตัว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว เดินมา scan บัตรบนรถ หรือถ้าไม่ได้ซื้อ​ SL Access Card ก็ใช้บัตรเครดิตชำระได้บนรถครับ

  • รถราง ที่สต๊อกโฮล์มยังมีรถรางวิ่งอยู่ วิ่งกันในเมืองอยู่บนถนนเดียวกันกับรถแบบอื่นๆ เลย โดยหลักการขึ้นก็คล้ายๆ รถเมล์ คือมีป้ายให้ขึ้น และมีข้อมูลบอกในรถว่าป้ายถัดไปเป็นสถานีอะไร การเก็บเงินก็คือจะมีเจ้าหน้าที่เดินมา scan บัตรบนรถรางครับ เรานั่งอยู่กับที่ได้เลย เดี๋ยวมีเจ้าหน้าที่เดินมาของสแกนตั๋วครับ

สถานีรถราง อยู่ติดกับถนนเลย หน้าตาของสถานีรถรางก็จะคล้ายๆ ป้ายรถเมล์ แต่จะมีเขียนชัดเจนว่านี่คือสถานีสำหรับรถราง



  • เรือเฟอรี่ ผมเห็นมีเรือเฟอรี่สาธารณะวิ่งจากสต็อกโฮล์มออกไปชานเมือง แต่ผมไ่ม่ได้ลองนั่ง คิดว่าบรรยากาศน่าจะดี และเรือเฟอรี่นี่เพื่อนผมบอกว่าเป็นของ SL ดังนั้นใช้ SL Access Card ได้เหมือนกัน

และการเดินทางระหว่างเมือง ก็มีบริการหลักคือรถไฟ และก็อาจจะมีรถบัส แต่ในที่นี้ผมจะขอกล่าวถึงรถไฟอย่างเดียว เพราะได้ลองนั่งไปยังเมืองเฟลียน (Flen) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกจากสต๊อกโฮล์ม เป็นเมืองเล็กๆ อารมณ์เล็กๆ แบบปราณบุรี แต่เฟลียนไม่ใช่เมืองติดทะเล แต่เป็นเมืองที่มีทะเลสาปครับ

  • รถไฟ ผมได้เดินทางโดยรถไฟระหว่างเมือง จากสถานีกลางสต็อกโฮล์ม (T-Centralen) ไปยังสถานีเฟลียน (Flen Station) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาทีเท่านั้น โดยต้องมีการซื้อตั๋วรถไฟล่วงหน้า โดยซื้อจากเว็บไซต์ของบริษัท SL เช่นกัน ผมเข้าใจว่ารถไฟระหว่างเมือง ควรต้องจองตั๋วไปก่อนครับ ที่นั่งจองไม่ได้ ซื้อได้แต่ตั๋ว แล้วขึ้นรถไฟก็ต้องหานั่งตามที่ว่างเอาครับ แต่รถไฟเที่ยวที่ผมไป ก็เป็นรถไฟใหม่ สะอาด มีห้องน้ำ และตู้เสบียงครบ แต่ว่ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่อาจต้องเก็บในชั้นวางกระเป๋าใหญ่ (Rack) ที่มีอยู่ในทุกโบกี้ แต่ที่วางกระเป๋าใหญ่นี้อาจจะไม่ได้อยู่ติดกับที่นั่งของเรา เราต้องหันไปดูบ่อยๆ และดูแลสัมภาระของเราเอง ไม่มีเจ้าหน้าที่มาดูแลให้ครับ ส่วนเรื่องการตรวจตั๋ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินตรวจครับ เราสามารถเอาตั๋วให้เจ้าหน้าที่เค้า scan ได้เลยเมื่อมาตรวจครับ

วัฒนธรรมและการใช้ชีวิตในสวีเดนที่เราควรรู้ และอาจต้องปฏิบัติตาม

วัฒนธรรมในสวีเดนบางอย่าง ก็อาจจะต่างไปจากวัฒนธรรมหรือการใช้ชีวิตในประเทศไทยของเรา ผมเลยอยากเล่าสิ่งเหล่านี้ให้ฟัง เพื่อที่ผู้อ่านจะได้สามารถเตรียมตัวได้ดีขึ้น ก่อนไปเที่ยวสวีเดนครับ

  • ภาษาอังกฤษ สามารถใช้ได้ทั่วไป : โดยปกติแล้วชาวสวีเดน จะใช้ภาษาสวีเดน และภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในเมืองสต็อกโฮล์มที่ผมได้ไปเยือน โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็สามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้เลย ผมยังไม่เจอร้านไหนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงคิดว่าถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ไม่น่าจะต้องกังวลอะไรในการใช้ภาษาครับ

  • แสงแดดที่รัก : ผมเดินทางไปสวีเดนในช่วงฤดูร้อน ซึ่งช่วงกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ตอนที่ผมไปคือช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ท้องฟ้าเริ่มสว่างตั้งแต่ตีสี่ และฟ้าจะมืดอีกทีประมาณ 4 ทุ่ม ถ้าใครชอบนอนแบบมืดๆ แนะนำว่าให้พวกผ้าคาดปิดตาสำหรับเวลานอนไปด้วยก็ดีครับ เพราะบางทีห้องพักอาจจะไม่ได้มีผ้าม่านที่ปิดได้แบบมืดสนิท และที่ผมจั่วหัวว่าแสงแดดที่รักนี่คือ ชาวสวีเดนชอบแสงแดดมาก เพราะฤดูหนาวยาวหน้ามาก มีฤดูร้อนแค่ไม่กี่เดือน ซึ่งถ้าวันไหนแดดดีๆ จะเห็นชาวเมืองใช้ชีวิตตากแดดกันยิ้มแย้ม ที่บอกว่าตากแดดคือไม่ได้แค่ออกไปเล่นกีฬาตากแดดนะครับ แต่คือใช้ชีวิตแบบตากแดด เช่น ร้านอาหารจะมีโต๊ะให้นั่งด้านนอก บางโต๊ะแดดลงเปรี้ยงๆ ก็จะมีชาวสวีเดนไปจับจองนั่งกินข้าวตากแดดกันเลย ส่วนเราคนไทย ก็สามารถเลือกได้ ไม่ต้องตากแดดตามเค้า เราหาที่นั่งใต้ร่มไม้ หรือนั่งในร้านก็ได้ครับ เพราะแดดที่นี่แรงมาก แสบผิวได้ทีเดียว อย่าลืมแว่นกันแดด และครีมกันแดดครับ

  • อากาศเย็นและการแต่งตัว : ในช่วงฤดูร้อนของสต็อกโฮล์ม ก็จะมีอุณภูมิระหว่างวันอยู่ที่ 15 - 25 องศาเซลเซียส คืออุณภูมิสูงสุดของวันเช่นบ่ายต้นๆ อาจสูงถึง 25.องศา แต่อุณภูมิต่ำสุดของวันอาจอยู่ที่ 15 องศาในช่วงตีสามหรือตีสี่เป็นต้น เราจะเอาอากาศที่กลางวันถ้าเดินตากแดดอาจร้อนนิดหน่อย ใส่เสื้อยืดตัวเดียวก็พอได้ แต่ก็สามารถพกเสื้อสเวตเตอร์หรือแจ็กเก็ตไปสักตัวได้ เผื่อหนาวๆ หรือเริ่มจะค่ำๆ แล้วหนาวก็ใส่คลุมสักตัวก็น่าจะพอได้แล้วครับ

  • บางโรงแรมอาจไม่มีแอร์ในห้องพัก : ด้วยประเทศสวีเดนที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นหลักตลอดทั้งปี บางห้องพักของโรงแรมอาจจะไม่มีแอร์คอนดิชั่นให้ ซึ่งแขกที่พักก็จะให้วิธีแง้มหน้าต่างเพื่อให้อากาศภายนอกเข้ามาในห้องได้ ซึ่งกลางคืนอากาศเย็นมากอยู่แล้ว ดังนั้นในห้องก็จะค่อนข้างเย็นสบาย แต่คนไทยบางคนอาจจะไม่ชินเพราะว่าอากาศมันจะไม่ค่อยหมุนเวียน ถ้าคุณกังวล ผมคิดว่าลองหาพัดลมพกพาตัวเล็กๆ ไปเปิดให้อากาศในห้องได้พอหมุนเวียนก็จะทำให้สบายตัวขึ้นครับ แต่โรงแรมที่ผมไปพักรอบนี้ มีแอร์คอนดิชั่นให้ ก็ถือว่าสะดวกสบายดีอยู่ครับ ตอนจองโรงแรม อย่าลืมตรวจเช็คดูก่อนว่าเค้ามีแอร์คอนดิชั่นหรือเปล่า หากคุณต้องการห้องที่มีแอร์ครับ

  • การเข้าห้องน้ำ ที่ต้องวางแผนล่วงหน้า : ด้วยประเทศสวีเดน มีความสนใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากจนทำให้ผู้ให้บริการต่างๆ เช่นห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟ ฯลฯ เปลี่ยนห้องน้ำมาเป็นห้องน้ำที่มีความเท่าเทียมทางเพศ (Unisex Toilet) คือเป็นห้องน้ำแบบเดียวกันคือไม่แยกห้องน้ำชายหญิง แต่ผู้ชายและผู้หญิงต่อแถวเข้าห้องน้ำแถวเดียวกัน โดยห้องน้ำจะเป็นห้องๆ ที่มีแค่โถชักโครก คือไม่มีโถปัสสาวะแบบผู้ชาย ซึ่งผลกระทบที่เจอคือ ผู้ชายก็ต้องต่อแถวเดียวกันกับผู้หญิง ถ้าเป็นสถานที่ที่มีจำนวนห้องน้ำไม่เยอะ การรอคิวก็จะใช้เวลารอนานหน่อย และที่สำคัญอีกอย่างในการเข้าห้องน้ำที่สวีเดนก็คือ บางที่จะมีการเก็บค่าเข้าห้องน้ำ และต้องชำระด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น เช่นห้องน้ำที่สถานีรถไฟกลางสต็อกโฮล์ม ค่าเข้าห้องน้ำ 10 SEK หรือประมาณ 35 บาทต่อครั้ง

  • ร้านขายยา อาจไม่สามารถขายยาบางอย่างได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ : ครั้งที่ผมไปนี้ มีอาการเป็นหวัดในวันที่สองของการเดินทาง ทำให้ต้องแวะซื้อยาจากร้านขายยา ผมอยากได้ยาละลายเสมหะแบบ NAC Long ที่ใช้ประจำที่ไทย ผมเปิดรูปให้พนักงานที่ร้านขายยาดู เค้าบอกว่ายาชนิดที่ผมต้องการนี้ ทางร้านขายให้ไม่ได้ หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ ผมก็เลยใช้วิธีเล่าอาการที่เป็นให้เจ้าหน้าที่ฟัง แล้วเค้าจะช่วยแนะนำยาให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยารักษาตามอาการ ดังนั้นหากจะเดินทางไปเที่ยวในสวีเดน อาจจะต้องเตรียมยารักษาโรคที่เราจำเป็นต้องใช้ไปเผื่อด้วยครับ เพราะบางทียาที่คุณต้องการใช้อาจไม่สามารถขายให้ได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ครับ (ผมเดาเองว่าคงต้องเป็นใบสั่งแพทย์ของประเทศสวีเดนด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจครับ) แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ที่ต้องการยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ก็น่าเข้าไปรักษาตัวที่คลินิคเพื่อหาหมดให้เค้าสั่งยาที่เหมาะสมให้ครับ

  • การแยกขยะ : ประเทศสวีเดน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความใส่ใจเรื่องการแยกขยะเป็นอย่างมาก โดยถังขยะสาธารณะก็มักจะมีถังขยะแบบแยกขยะอย่างละเอียดชัดเจน เท่าที่ผมสังเกตดู ถือว่าแยกขยะได้ละเอียดกว่าประเทศของเราพอสมควร ดังนั้นเวลาเราจะทิ้งขยะ แนะนำให้คำนึงถึงเรื่องการแยกขยะ และจัดทิ้งให้ตรงกับถังขยะแต่ละชนิดครับ

หวังว่าคำแนะนำเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ และขอให้ทุกท่านที่จะเดินทางไปเที่ยวประเทศสวีเดน ไปเที่ยวกันอย่างสนุกและปลอดภัย สวัสดีครับ