ประสบการณ์ในการกางเต็นท์แบบจริงจังของผม คือการไปกางเต็นท์ที่ป้อมปี่ จังหวัดกาญจนบุรีในฤดูฝน ที่จริงแล้วการเดินทางของเราในทริปนั้นจะเป็นการเดินทางไปกางเต็นท์ที่ภูเขียว แต่ด้วยข่าวเกี่ยวกับน้ำป่าหลากหลายสถานที่ที่ใกล้กับเส้นทางและสถานที่ที่ผมกำลังจะเดินทางไปในวันเดียวกันนั้น ทำให้ผมเปลี่ยนแผนกะทันหันที่จะไปกางเต็นท์ที่ป้อมปี่แทน
ครั้งแรกที่ไปถึงจุดกางเต็นท์ป้อมปี่ ปรากฎว่าฝนตกลงมาต้อนรับเราห่าใหญ่ ทำให้เราต้องไปนั่งรออยู่ในโรงอาหาร จนฝนซาถึงได้เริ่มกางเต็นท์ ซึ่งเราต้องแข่งกับเวลาเพราะใกล้เวลาที่ความมืดจะมาเยือน ในขณะที่เราก็เดาไม่ออกว่าฝนจะตกลงมาอีกเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม การกางเต็นท์ครั้งแรกของเราในเย็นวันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี ได้มีเวลาทำกับข้าวกินมื้อเย็นกันอย่างเอร็ดอร่อย
ในบทความนี้ ผมขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ในการเตรียมตัวที่จะไปกางเต็นท์ในฤดูฝน ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณได้กางเต็นท์ในช่วงฤดูฝนกันอย่างมีความสุขครับ
1. ดูสภาพอากาศและเลือกสถานที่กางเต็นท์ที่ปลอดภัย
การกางเต็นท์ในช่วงฤดูฝนมีสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือเรื่องของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน หรือน้ำป่า ที่มีโอกาสมากที่จะเกิดขึ้นในฤดูฝนนี้ ผมคิดว่าการเลือกจุดกางเต็นท์ที่ปลอดภัยนั้น ต้องดูว่าจุดที่เราจะไปกางเต็นท์ ติดกับคลอง หรือน้ำตก หรือลำห้วยต่างๆ ไหม ซึ่งผมเองมักจะเลี่ยงการกางเต็นท์ริมตลิ่งในช่วงฤดูฝนนี้ กางห่างออกมาหน่อย ก็สบายใจดีเวลาเรานอนหลับดึกดื่น วิธีการเลือกจุดที่ปลอดภัยอีกแบบหนึ่งก็คือสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยาน หรือคนในพื้นที่ ว่าจุดไหนที่มีโอกาสน้ำท่วมถึง หรือเคยเกิดน้ำป่าไหลหลากในจุดไหน ถ้าเลี่ยงได้ ให้กางเต็นท์ห่างออกมาจากจุดเหล่านั้นหน่อยก็ดีครับ อย่าลืมดูพยากรณ์อากาศในวันนั้นที่จะกางเต็นท์ เดี๋ยวนี้เราพอจะประเมินจากข้อมูลเหล่านั้นได้ว่าฝนจะตกช่วงเวลาไหนของวัน จะได้วางแผนกางเต็นท์หรือเก็บเต็นท์ได้ทันก่อนฝนตก ตอนจะเลือกจุดที่เราจะกางเต็นท์ ให้หลีกเลี่ยงทางน้ำไหล โดยดูจากร่องที่เกิดขึ้นบนพื้นดิน
2. เลือกเต็นท์ที่มีการกันน้ำอย่างดี
การนอนเต็นท์แล้วตื่นขึ้นมาท่ามกลางน้ำที่เฉอะแฉะในเต็นท์เป็นเรื่องที่เราอยากหลีกเลี่ยงมากที่สุด ทุกวันนี้มีผู้ผลิตเต็นท์หลากหลายยี่ห้อที่ได้คุณภาพ มีระบบพื้นและหลังคาที่กันน้ำอย่างดี วิธีการเลือกอาจจะดูที่ระดับการกันน้ำของผ้าเต็นท์ก่อน โดยมากจะมีค่ากันน้ำระหว่าง 800 มม. จนถึง 10,000 มม. ซึ่งนักกางเต็นท์ส่วนใหญ่ จะเลือกเต็นท์ที่กันน้ำได้อย่างต่ำที่ 1,500 มม. ขึ้นไป ยิ่งค่ากันน้ำ มม. ยิ่งสูง ยิ่งกันน้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน ยิ่งกันน้ำได้สูง ก็หมายถึงน้ำหนักของเต็นท์ที่อาจจะมากขึ้น เพราะว่ามีการเคลือบผ้าเต็นท์ที่หนาขึ้น และราคาค่าตัวของมันก็อาจจะแพงขึ้นด้วย ลองอ่านบทความเกี่ยวกับ การกันน้ำของเต็นท์ที่เว็บนี้ได้ครับ เค้าสรุปไว้ค่อนข้างเข้าใจง่ายว่า แบบ 1,500 มม. เหมาะกับใช้งานฤดูร้อน ถ้าเอาแบบใช้ได้ทั้งปีพร้อมลุยฤดูฝนได้ก็น่าจะต้อง 2,000 มม. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าใช้งานในสถานที่ที่มีฝนตกบ่อย ๆ อาจจะต้องเลือกแบบ 3,000 มม. ขึ้นไป
นอกเหนือจากนี้ต้องดูพื้นเต็นท์ว่ามีการยกขอบของพื้นเต็นท์ให้สูงอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อกันน้ำที่ไหลเจิ่งนองภายนอกเต็นท์ไม่ให้เข้ามาในเต็นท์ได้ด้วย ลองดูตัวอย่างเต็นท์ที่กันน้ำระดับ 2,000 มม. ขึ้นไปครับ
ตัวแรกคือเต็นท์ Arpenaz รุ่น Fresh & Black XL ขนาด 3 คน มีฟลายชีทที่กันน้ำ 2000 มม.

ตัวที่สองที่คือเต็นท์ Coleman Instant 4P ตัวนี้กันฝน 3,000มม. เลยทีเดียว ผมมีรุ่นคล้ายๆกันนี้ แต่เป็นรุ่นที่เก่ากว่านี้ ได้ใช้มาหลายทริปถือว่านอนสบาย เดินในเต็นท์สบายมากเพราะหลังคาสูง และกันฝนสนิท เต็นท์หลังนี้ผมว่านอนได้ 3 คนสบายมีพื้นที่เหลือเก็บของ แต่ถ้านอน 4 คนจะเบียดๆ หน่อย

สำหรับเต็นท์อื่นๆในตลาดก็ยังคงมีอีกหลายตัวที่มีสเปคกันฝนเกิน 2,000 มม. ใช้ตัวไหนกันอยู่ ขอเชิญแนะนำเพิ่มเติมได้ในช่องคอมเม้นทต์ด้านล่างนะครับ ถ้าเราใช้เต็นท์ที่ดี รับรองหลับสบายแน่นอน
3. ห้องนั่งเล่นหรือพื้นที่ส่วนกลางที่กันฝนได้
เวลาที่เราไปกางเต็นท์ เรามักจะไม่ค่อยได้ใช้เวลาทั้งหมดอยู่ในเต็นท์ แต่เราจะมาสนุกอยู่กับกิจกรรมนอกเต็นท์ เช่นทำอาหาร ทานข้าว พูดคุย นั่งสังสรรค์กับเพื่อน เป็นต้น ในฤดูฝน ที่ฝนค่อนข้างชุก พื้นที่ส่วนกลางก็ต้องมีหลังคาหรือทาร์ปที่กันน้ำได้ดีเช่นกัน ถ้าใช้หลักการเดียวกันกับผ้าเต็นท์ เราก็ควรมองหาหลังคาทาร์ปที่กันน้ำได้ดีอย่างน้อย 2,000 มม. เช่นกัน
นอกเหนือจากนี้ คำแนะนำจากประสบการณ์ของผมเองคือ เวลาเราไปกางเต็นท์ในฤดูฝน จะเป็นฤดูที่มีแมลงเยอะ เวลากลางคืนทีไร แมลงเหล่านี้จะมาตอมไฟตะเกียงกันเยอะมาก หากใครไม่ชอบแมลงเยอะๆ ผมขอแนะนำให้เลือกใช้เชลเตอร์หรือหลังคาแบบที่มีมุ้งรอบข้าง เพราะในทริปแรกของผม ใช้เต็นท์แบบ 2 room ขนาดใหญ่ มีห้องนั่งเล่นแบบมีมุ้งรอบ แล้วใช้ตะเกียงแบบใส่ถ่านไฟฉายเอาไว้ภายในห้องนั่งเล่น ทั้งแมลงทั้งยุงก็เข้ามาไม่ได้แล้วครับ นั่งกินข้าว สังสรรค์กันได้อย่างสบายใจ
ลองดูตัวอย่างหลังคาทาร์ปตัวนี้ครับ Coleman Japan Screen Dome Tarp มีมุ้งรอบตัว มีผ้าด้านนอกปิดอีกชั้นกันฝนสาดได้ ไม่ต้องนั่งตบยุงปัดแมลงแล้วครับ

หรือจะลองเป็นแบบทาร์ปหลังคาปกติแบบไม่มีมุ้ง ก็ลองดูทาร์ปที่กันน้ำดีๆที่ผืนใหญ่หน่อยก็ได้ครับ เวลาฝนตก เราจะได้ดึงชายคาคงมาเตี้ย ๆ กันฝนสาด แต่ยังเหลือที่เก็บของหรือที่นั่งให้เราได้นั่งอยุ่ภายใต้ทาร์ปครับ ถ้าเป็นทาร์ปเล็กๆ เวลาฝนสาดแทบจะไม่มีที่หลบเลยครับ นอกเหนือจากทาร์ปที่เราเอาไว้นั่งเล่นแล้ว ถ้าใครมีงบอีกหน่อย ลองหาทาร์ปอีกผืนกางเหนือเต็นท์ของเราอีกสักผืน นอกจากเอาไว้กันฝนแล้ว ยังมีพื้นที่เอาไว้ให้เราตากผ้าใต้ทาร์ปก็ได้ด้วยนะ
สำหรับทาร์ปตัวนี้ Coleman Japan Weather Master Square Tarp ตัวนี้กันน้ำระดับ 3,000 มม. กันไปเลยครับ

4. เมื่อแคมปิ้งกลางฝน ถุงพลาสติกช่วยได้
ถุงพลาสติกแบบที่เราหมายถึง ก็คือถุงดำ หรือถุงใส่ขยะใบใหญ่ๆ และถุงซิปล็อคขนาดตามชอบ ของเหล่านี้ไม่เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บไป แต่รับรองได้ว่าช่วยเราได้หลายกรณี อย่างเช่นถุงดำ สามารถเอาใส่เสื้อผ้าแห้งๆ ของเราไว้ แล้วค่อยถุงเสื้อผ้านั้นใส่เข้าไปในเป้อีกที หรือเอาไว้ใส่อาหารหรือของใช้ต่างๆ ที่เราวางทิ้งไว้ในทาร์ปซึ่งอาจเกิดฝนสาดได้ ถุงดำใบใหญ่ที่ผมเคยลองใช้แล้วพบว่าคุณภาพดี มีความหนากว่าถุงดำทั่วไปคือ ถุงดำยี่ห้อ Hero ลองเลือกขนาดสัก 30×40 นิ้ว ใหญ่พอที่จะใส่ของชิ้นใหญ่ๆ ได้ด้วย

ส่วนถุงซิปล็อก เอาไว้ใส่พวกของกระจุกกระจิกชิ้นเล็กๆ เช่นโทรศัพท์มือถือ ถ่านไฟฉาย เพาเวอร์แบงค์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ป้องกันอุปกรณ์ของเราเปียกฝนได้ดี ถ้าเอาเน้นชัวร์ ก็ลองเลือกถุงซิปล็อกแบบล็อกสองชั้นก็ได้ครับ เห็นของยี่ห้อ Hero ก็มีแบบสองชั้นครับ

5. เสื้อฝนต้องพร้อม
เวลาเราไปตั้งแคมป์ การใช้ร่มจะทำให้เรามือไม่ว่างที่จะหยิบจับอะไรได้ถนัดนัก ดังนั้นตัวเลือกของเสื้อกันฝน หรือบางคนมีกางเกงกันฝน จะทำให้เสื้อผ้าของคุณแห้งได้ตลอดเวลา การเที่ยวกางเต็นท์ในฤดูฝน แต่ตัวเปียกตลอดเวลาก็ไม่สนุกนักหรอก
สำหรับเสื้อกันฝน ก็มีด้วยกันหลากหลายแบบตั้งแต่รูปทรงเสื้อกันฝนคลุมทั้งตัวแบบที่เราคุ้นเคยเรียกว่าทรงพอนโช่ (Poncho) ทรงแบบนี้ลองหาที่ร้านดีแคทลอนก็มีเยอะ ราคาเหมาะสม สำหรับตัวในรูปคือ เสื้อกันฝนสำหรับผู้ใหญ่ Forclaz 75L สีแดง

ส่วนเสื้อกันฝนอีกแบบหนึ่งก็คือรูปทรงที่เหมือนกับเสื้อหนาว หรือเสื้อแจ็คเก็ต แบบนี้จะเป็นทรงแบบเข้ารูป ค่อนข้างทะมัดทะแมง แต่คลุมแค่ช่วงบนเหมือนเสื้อ ตรงกางเกงอาจเปียกฝนได้ ทรงแบบนี้มีหลายยี่ห้อเหมือนกัน ลองดูตัวอย่างทรงนี้ได้ เช่น เสื้อแจ็กเก็ตกันฝน Kuhl รุ่น Jetstream

6. จุดเตาไฟทำอาหารกลางฤดูฝน
ช่วงฤดูฝน การเลือกใช้เตาฟืนหรือกิ่งไม้ ก็อาจจะยากหน่อยเพราะไม้ตามธรรมชาติมักจะมีความชื้นอยู่จากฝนตกสะสม ดังนั้นถ้าหากอยากใช้เตาฟืน อาจจะต้องเตรียมไม้ฟืนหรือถ่านหุงต้มไปเองจากบ้าน เตรียมใส่ถุงดำหรือถุงกันน้ำไว้ให้ดี
สำหรับฤดูฝนแบบนี้ การเลือกใช้เตาแก๊สอาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เพราะอาจไม่ต้องกังวลเรื่องเชื้อเพลิงที่เปียกชื้น แต่ฤดูฝนอย่างนี้ ลมอาจจะแรงและมีละอองฝนปลิวมาด้วย ดังนั้นเตาแก๊สของเรา จึงควรมีที่บังลมด้วย จะเลือกใช้ที่บังลมสำเร็จรูปก็ได้ หรือหากไม่มีก็สามารถสร้างที่บังลมขึ้นมาเองได้จากการก่อกองหินขึ้นมา


ตัวจุดไฟ ควรพวกไฟแช็ค หรือแท่งจุดไฟไปด้วย เพราะการเลือกใช้ไม้ขีดอาจมีความเสี่ยงจากความเปียกชื้นได้ครับ
การจุดเตา ห้ามจุดในเต็นท์เด็ดขาดเพราะว่าอากาศไม่ถ่ายเท ทำให้มีมลพิษเกิดขึ้นในเต็นท์ สูดดมเข้าไปอาจทำให้เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรเลือกจุดเตาใต้ทาร์ปที่เปิดโล่งระบายอากาศได้ดี
สุดท้ายนี้ หวังว่าเพื่อนๆ ที่จะไปเที่ยวแคมปิ้ง กางเต็นท์ในช่วงฤดูฝนนี้ จะเที่ยวกันได้อย่างสนุกและปลอดภัยนะครับ ใครที่มีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการกางเต็นท์ในฤดูฝน ก็สามารถฝากไว้ได้ที่คอมเม้นต์ด้านล่าง เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนๆท่านอื่นต่อไปครับ
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ