เมื่อทราบข่าวว่าละครเพลงไลอ้อนคิง (Lion King The Musical) จะมาเล่นที่กรุงเทพ ผมรีบเข้าเว็บไทยทิกเก็ตเมเจอร์ไปจองตั๋วแบบแทบจะทันที โดยใช้เกณฑ์ส่วนตัวในการเลือกก็คือ เลือกที่นั่งที่ดีที่สุดไว้ก่อน โดยไล่ดูทุกรอบที่มีบัตรจำหน่าย ดูว่ารอบไหนมีที่นั่งที่เราเล็งไว้ และแล้วผมก็ได้ตั๋วละครเพลงเรื่องนี้มาอยู่ในมือ โดยถ้าจำไม่ผิด ผมได้จองล่วงหน้าไปก่อนวันแสดงจริงประมาณ 5-6 เดือน และเมื่อได้ดู ผมรู้สึกว่านี่คือ
” ละครเพลงที่มีรายละเอียดที่งดงามไม่เหมือนใครที่ไหนในโลก “

ก่อนที่จะรีวิว ผมขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับละครเพลงเรื่องนี้กันก่อนดีกว่า เพราะประวัติของละครเพลงไลอ้อนคิงเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแน่นอนครับ
รู้จักกับละครเพลงไลอ้อนคิง เดอะมิวสิคคัล
ผมชอบดูละครเพลง เลยมักจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับละครเพลงในกูเกิ้ลอยู่บ่อยๆ และก็พบว่าเวลาไปเจอข้อมูลที่บอกว่าละครเพลงเรื่องไหนน่าดูบ้าง มักจะเห็นชื่อละครเพลงไลอ้อนคิง (Lion King The Musical) อยู่ในลิสต์เป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ ผมเก็บความอยากดูนี้ไว้นานมาก เพราะโอกาส (และกระเป๋าสตางค์) ยังไม่เอื้ออำนวยให้ไปดูที่โรงละครแถบเวสต์เอนด์ในลอนดอน หรือบรอดเวย์ในนิวยอร์ค เลยได้แต่ดูวีดีโอเกี่ยวกับละครเพลงไลอ้อนคิงอยู่บนยูทูบมาตลอด
ซึ่งในวีดีโอที่มักจะเจอก็จะเป็นฉากตอนเปิดเรื่องของละครเพลงไลอ้อนคิง ที่เป็นตัวละคร ลิงแมนดริลที่ชื่อราฟิกิ (Rafiki) ออกมาเริ่มร้องเพลงเซอเคิลออฟไลฟ์ (Circle of Life) นั้นช่างน่าขนลุก ตั้งแต่เสียงร้องและความอลังการณ์ของการเปิดตัวสิงสาราสัตว์เดินขึ้นบนเวทีนั้น น่าจะเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นหากได้ไปอยู่ในโรงละครชมละครเพลงเรื่องนี้
ละครเพลงไลอ้อนคิง เปิดตัวครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ในรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะไปเปิดตัวที่โรงละครในบรอดเวย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ในปีเดียวกัน ไลอ้อนคิงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มีการเปิดแสดงในโรงละครที่บรอดเวย์ไปมากกว่า 9,000 รอบ และแสดงในโรงละครที่เวสต์เอนด์ไปมากกว่า 7,500 รอบ ทำให้ละครเพลงไลอ้อนคิง เป็นละครเพลงที่ทำเงินสูงสุดอันดับหนึ่งในโลก ด้วยรายได้ถึง 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (รายงานเมื่อปี พ.ศ. 2560) เอาชนะละครเพลงคลาสสิคที่ครองตำแหน่งอยู่เดิมคือ แฟนธ่อมออฟดิโอเปร่า ไปได้แล้ว
การแสดงละครเพลงไลอ้อนคิงในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทัวร์แสดงในระดับนานาชาติ ที่แวะมาแสดงที่กรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน ถึง 10 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์
ตำแหน่งที่นั่งในโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์

ตำแหน่งที่นั่งที่ผมเลือกไว้ คือ H25 และ H26 ซึ่งอยู่แถวที่ 8 จากหน้าเวที ในโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ และอยู่กึ่งกลางเวทีพอดี ตำแหน่งที่นั่งนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นตำแหน่งที่ดีพอที่จะมองเห็นภาพรวมของเวทีไดัครบถ้วนและก็ยังใกล้พอที่จะเห็นรายละเอียดของตัวแสดงที่ชัดเจน
เสียงร้องและดนตรีใน Lion King the Musical
รอบที่ผมได้ดู ตัวแสดงนำหลักๆ เป็นตัวจริงสำหรับทัวร์นานาชาติแทบจะทุกคนเลย (ผมเห็นสูจิบัตรเขียนรายชื่อตัวแสดง พร้อมรายชื่อนักแสดงสำรองของแทบจะทุกตัวแสดง คงเตรียมไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินที่นักแสดงป่วย) ตัวอย่างเช่น ราฟิกิ รับบทโดย แซปา พิทเจง (Ntsepa Pitjeng), มูฟาซา รับบทโดย Mthokozisi Emkay Khanyile, สการ์ รับบทโดย Antony Lawrence, ซิมบ้าตอนเด็กรับบทโดย Ian Albert Magallona, นาล่าตอนเด็กรับบทโดย เวย์นฮาท แคลร์ จีออนซอน (Waynehart Claire Geonzon) , ซิมบ้า รับบทโดย จอร์แดน ชอว์ (Jordan Shaw) และนาล่ารับบทโดย Amanda Kunene ส่วนวงดนตรีออเคสตร้า กำกับวงโดย Andy Massey

เปิดม่านมาด้วยเพลงเซอเคิลออฟไลฟ์อย่างที่เคยดูมาในยูทูบ แต่การวางตำแหน่งที่เปิดตัวของตัวละคร ทำให้คนดูได้หันไปดูมุนโน้นที มุมนี้ที รวมถึงต้องหันไปดูตัวละครสิงสาราสัตว์ที่เข้ามาจากด้านหลังคนดูอีกด้วย ระบบเสียงดีเยี่ยมในตำแหน่งที่ผมนั่ง เสียงร้องกับเสียงดนตรี กำลังพอดี ไม่มีเสียงไหนแหลมออกมาให้เสียอรรถรส
สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวของผม กับเพลงในเรื่องไลอ้อนคิงนั้น ผมจำเพลงดังๆ ได้ไม่กี่เพลง เช่นเพลงเปิดตัวคือ เซอเคิลออฟไลฟ์ (Circle of Life), ฮาคูน่า มาทาท่า (Hakuna Matata) หรือเพลงอย่าง แคนยูฟีลเดอะเลิฟทูไนท์ (Can You Feel The Love Tonight) ส่วนเพลงอื่นๆ คนที่เป็นแฟนไลอ้อนคิงแท้ๆก็น่าจะร้องตามได้หมด เพราะละครเพลงเล่นไปตามฉากสำคัญๆ ของการ์ตูนต้นฉบับแทบจะทั้งหมด
ฉากและเครื่องแต่งกาย
สิ่งที่ผมรอชมก็คือฉากต่างๆ ที่นึกอยู่ว่า ถ้ามันมาอยู่ในละครเพลงที่อยู่บนเวทีแคบๆนั้น เค้าจะออกแบบเวทีกันยังไง ผมได้ซื้อสูจิบัตรของการแสดงละครเพลงไลอ้อนคิงติดมือกลับมาด้วย (ราคาเล่มละ 500 บาท ซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายของที่ระลึกหน้าโรงละคร) และพบว่าข้อมูลเบื้องหลังในหนังสือสูจิบัตรเล่มนี้ เป็นข้อมูลที่ล้ำค่าทั้งสำหรับแฟนละครเพลงและแฟนไลอ้อนคิง
ผู้ออกแบบละครเพลงเรื่องคือ จูลี่ เทย์เมอร์ (Julie Taymor) คิดมาละเอียดมาก ตั้งแต่เรื่องของการออกแบบประสบการณ์ ที่มีความตั้งใจว่า สิ่งที่ละครเพลงเรื่องนี้ทำ ต้องเป็นประสบการณ์ของไลอ้อนคิงในแบบที่จะหาชมได้ในโรงละครอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุดของนักแสดงต่างๆ ที่จูลี่คิดออกมาให้คนดูได้รับชมประสบการณ์แบบสองเหตุการณ์พร้อมกัน (Double Event) เช่น เห็นหน้าหรือท่าทางของนักแสดง ไปพร้อมๆ กับตัวหุ่นกระบอกหรือหน้ากากของสัตว์ตัวละครต่างๆ อันนี้ยอมรับเลยว่าเวลาผมนั่งดูอยู่ นักแสดงกับหุ่นรูปสัตว์ต่างๆนั้นดำเนินไปอย่างเป็นคนเดียวกัน

ที่ผมชอบมากคือหน้ากากของมูฟาซากับสการ์ที่สามารถยื่นหน้าออกมาได้เมื่อนักแสดงก้มโน้มตัวไปข้างหน้า ดูแล้วเหมือนสิงโตกำลังยื่นหัวออกมาจริงๆทีเดียว
ประสบการณ์บนเครื่องแต่งกายนี้ผมขอยกให้เป็นสิ่งที่ผมตื่นเต้นมากที่สุด เพราะตัวละครแต่ละตัว มีการออกแบบเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใครในโลกจริงๆ มีการคิดการออกแบบที่ละเอียดอ่อนมาก เมื่อมาอยู่ในละครเพลงบนเวทีแล้ว กลมกลืนไปกับเพลงและเรื่องราวของละครสุดๆ
ระยะเวลาการแสดง
การแสดงไลอ้อนคิง เดอะมิวสิคคัล ที่เมืองไทยนี้ มีความยาวรวมทั้งหมด 150 นาที (รวมพักเบรคตรงกลาง 20 นาทีเพื่อให้ผู้ชมและนักแสดงได้พัก) ซึ่งผมต้องขอบอกผู้ที่จะไปชมละครเพลงเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า เพราะการแสดงเริ่มค่อนข้างตรงเวลามาก รอบที่ผมดูนี่คือเพลงสรรเสริญพระบารมี ขึ้นก่อนเวลาแสดงจริง 5 นาที และเมื่อถึงเวลาการแสดงที่แจ้งไว้ในบัตร โชว์ก็เริ่มหลังจากเวลานั้นแค่ 1-2 นาทีเท่านั้น รวมถึงตอนพักเบรค ทางโชว์กลับมาเริ่มเล่นตรงเวลาหลังจากพัก 20 นาที ใครที่เข้ามาไม่ทัน จะต้องรอที่ตรงบริเวณประตูทางเข้าจนกว่าโชว์จะถึงเวลาเหมาะสมให้คนที่มาสายเดินเข้าไปที่นั่งของตนเองได้
ร้านขายของที่ระลึก

ทุกการแสดงมิวสิคคัล จะขาดร้านขายของที่ระลึกไปไม่ได้เลย ผมลองเดินเข้าไปสำรวจในร้าน มีขายตั้งแต่สูจิบัตร ซีดีเพลงไลอ้อนคิง ของสะสมเป็นหน้ากากซิมบ้าอันจิ๋ว เสื้อยืดลายไลอ้อนคิง ตุ๊กตาซิมบ้าตัวน้อย ฯลฯ ผมแนะนำว่าถ้าคุณเป็นแฟนละครเพลง อยากให้ซื้อสูจิบัตรมาเก็บไว้อ่านครับ เล่มนี้มีเบื้องหลังการทำงาน ซึ่งผมคิดว่าเราหาอ่านไม่ได้ง่ายๆ แม้ในอินเตอร์เน็ตก็ตาม ส่วนของที่ระลึกอื่น ๆ ก็คงเป็นไปตามความชอบของแต่ละคน เอาจริงๆ ผมว่าของที่ระลึกยังไม่ตื่นเต้นสำหรับผมมากเท่าไหร่นัก น่าจะเหมาะกับเด็กๆ ซะมากกว่า ผมอยากให้มีของที่ระลึกแบบที่เป็นแผ่นเสียง หรือหน้ากากของตัวละครแบบขนาดจริง หรือย่อส่วนนิดหน่อยพอดี แต่ไม่ใช่แบบเล็กจิ๋ว เอาไปประดับบ้านก็น่าจะสวยงามดี

ละครเพลงไลอ้อนคิง เดอะมิวสิคคัลเหมาะกับใคร
ถ้าคุณเป็นแฟนละครเพลง เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง ถ้าคุณเป็นแฟนไลอ้อนคิงหรือดิสนีย์ ละครเพลงเรื่องนี้จะเปิดมิติใหม่ของการดัดแปลงการ์ตูนเรื่องที่คุณชื่นชอบมาเป็นแบบที่คุณคาดไม่ถึง ถ้าคุณชอบงานศิลปะหรือเครื่องแต่งตัว ผมขอแนะนำให้คุณมาดูงานเครื่องแต่งตัวของเรื่องนี้ ผมยกให้เป็นที่สุดของการออกแบบเครื่องแต่งกายบนละครเพลง (จากประสบการณ์ละครเพลงอันน้อยนิดของผม) ถ้าคุณเป็นชอบการชมดนตรีหรือชอบฟังการร้องเพลง ผมคิดว่าเรื่องนี้เสียงร้องเด่นมากๆในเพลงเซอเคิลออฟไลฟ์ แต่เพลงอื่นๆนั้นผมว่าทำได้ดีเยี่ยมในแบบที่เพลงเค้าออกแบบมาเท่านั้น ที่ต้องเขียนแบบนี้เพราะว่า เพลงในเรื่องไลอ้อนคิง ไม่ได้เป็นเพลงโชว์พลังเสียงของนักร้องมากเท่าๆกับเพลงในเรื่องแฟนธ่อมออฟดิโอเปร่าหรือเรื่องอื่นๆ นั่นเอง
Lion King The Musical
1,500 – 5,700 บาทสิ่งที่ชอบ
- ราคาบัตร คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะไม่ต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปดูถึงเมืองนอก
- ชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายออกแบบเจ๋งสุดยอด
- เพลงในเรื่องดูขลังสุดๆโดยเฉพาะตอนเปิดเรื่อง ใครมาสายถือว่าพลาดไฮไลท์
- จังหวะการแสดงของนักแสดงกับหุ่นรูปสัตว์กลมกลืนสุดๆ
สิ่งที่ต้องพิจารณา
- ร้านค้าของที่ระลึกยังไม่ตื่นเต้นมาก
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ