นักไตรกีฬาที่น้ำหนักตัวเบากว่า จะเร็วกว่านักไตรกีฬาที่ตัวหนักว่าจริงหรือไม่ การที่นักกีฬาตัวผอม ๆ จะแข่งขันได้เร็วกว่ากว่านักกีฬาท้วม ๆ ใช่หรือไม่ มาลองทำความเข้าใจข้อมูลเรื่องน้ำหนักตัวนักไตรกีฬา จากมุมมองของ คริส แมคคอร์แมค หรือ แมคก้า นักไตรกีฬาระดับตำนานที่เป็นแชมป์ไอออนแมนหลายสมัยมาพูดถึงเรื่องนี้กันครับ
อ้วนไป ผอมไป สำหรับการแข่งขันไตรกีฬา?
แมคก้า เล่าเรื่องประสบการณ์เรื่องการเพิ่มและลดน้ำหนัก จากสิ่งที่เขาได้ประสบการณ์มาจากการแข่งขันไตรกีฬามาหลายปี เขาพบกว่าการที่เป็นนักกีฬาตัวผอม ๆ บาง ๆ นั้น ก็แข่งขันได้เร็วอยู่ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อตอนสมัยเขาเล่นกีฬาแรก ๆ นั้น ยิ่งผอมก็ยิ่งวิ่งได้เร็ว เล่นกีฬาได้เร็ว เป็นแชมป์ไตรกีฬาระยะสั้นมากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่เขาเริ่มเล่นไตรกีฬา เมื่อวันเวลาผ่านไป และได้เปลี่ยนมาเล่นไตรกีฬาระยะยาว เช่นระยะ 70.3 หรือระยะไอออนแมน การที่เขาตัวผอมมาก ๆ นั้น อาจจะไม่เหมาะสมกับเขาเสมอไป สิ่งเหล่านี้ ในภาษานักกีฬาจะพูดถึงเรื่องน้ำหนักตัวที่ใช้ในการแข่งขันหรือที่เรียกว่า Racing Weight นั่นเอง
เมื่อแมคก้ามาเล่นไตรกีฬาระยะไกล โค้ชของเขาบอกว่า ตัวของเขาผอมเกินไปสำหรับการเล่นไตรกีฬาระยะไกล เพราะนักกีฬาที่เล่นกีฬาระยะไกล ต้องการพลังงานใช้ต่อหลังจากที่แข่งขันไปแล้วเกิน 4 ชั่วโมง ถ้าผอมเกินไปจะเล่นกีฬาในระยะไกลได้ไม่เต็มที่เพราะพลังงานไม่พอ
ในช่วงแรก แมคก้า ยังคงเล่นระยะสั้น และไอออนแมนและได้แชมป์อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเป็นรายการใหญ่อย่างรายการชิงแชมป์โลกระยะไอออนแมนที่โคน่า ฮาวายนั้น เขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนเมื่อ มาร์ค อัลเลน นักไตรกีฬาระดับตำนานอีกคนหนึ่งซึ่งแมคก้ายกให้เป็นไอดอลของเขานั้น ให้คำแนะนำว่า แมคก้า นายต้องอ้วนในเดือนกรกฎาคม เพื่อที่จะชนะที่โคน่า การที่นายผอมแบบพร้อมแข่งตลอดเวลานั้น ไม่เหมาะกับการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่โคน่าหรือไตรกีฬาระยะไกล
หลังจากนั้น แมคก้าก็เริ่มศึกษาเรื่องน้ำหนักตัวสำหรับแข่งขันอย่างจริงจัง แมคก้าพบกว่า ตนเองเป็นนักกีฬาที่ถือว่าเป็นคนตัวใหญ่ เมื่อเทียบกับนักกีฬาทั่วไป แต่นักกีฬาที่ตัวใหญ่ ก็มีเครื่องมือที่ใช้เอาชนะการแข่งขัน ก็คือเรื่องของความแข็งแกร่งทนทานและเรื่องพละกำลัง ดังนั้นถ้านักกีฬาเหล่านี้ลดน้ำหนักเยอะเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงกว่าปกติและเจ็บป่วยได้ง่าย
Race Weight น้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขัน

ดังนั้นเมื่อแมคก้าหันมาเล่นไตรกีฬาระยะไกล เขาก็เริ่มมาเน้นในสองจุดให้มากขึ้น จุดแรกคือเรื่องน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขันของตัวเขาเอง ซึ่งขั้นตอนนี้ แมคก้าก็ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง เช่น ปกติน้ำหนักตัวที่แมคก้าใช้แข่งขันระยะสั้นในรายการของ ITU คือประมาณ 75 กิโลกรัม ซึ่งเขาพบว่ามันไม่เหมาะสมสำหรับการแข่งระยะไกล เมื่อเขาวิ่งได้ไม่ดีในระยะไอออนแมนในการแข่งขันชิงแชมป์โลกไอออนแมนที่โคน่าปี 2004 ทั้ง ๆ ที่การวิ่งระยะมาราธอนที่เขาเคยทำได้ดีในการแข่งขันที่มีระยะการแข่งต่ำกว่า 8 ชั่วโมง
แมคก้าลองเพิ่มน้ำหนักตัวเป็น 76.6 กิโลกรัม แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่อเขากลับวิ่งได้ดีกว่าตอนน้ำหนักตัว 75 กิโลกรัมเสียอีก และในปีถัดมา แมคก้าลองใหม่ ด้วยการเริ่มต้นซ้อมในฤดูกาล 2005 ด้วยน้ำหนักตัว 82.5 กิโลกรัม แล้วซ้อมให้ลดลงพร้อมแข่งที่น้ำหนักตัว 77.5 กิโลกรัม และพบว่าเขาทำเวลาในช่วงวิ่งมาราธอนได้ดีที่สุดของเขาในการแข่งขันชิงแชมป์โลกไอออนแมนปี 2005 นั่นเอง
นักกีฬาที่ผอม ไม่ได้วิ่งเร็วที่สุดเสมอไป
แมคก้า สรุปถึงการเรียนรู้ของเขาเองว่า การเป็นนักกีฬาที่ผอม ไม่ได้วิ่งเร็วที่สุดเสมอไป ดังนั้นคำแนะนำสำหรับนักไตรกีฬาคือ เราต้องหาน้ำหนักตัวทีเหมาะกับการแข่งขันของแต่ละคน ต้องทดลองและทดสอบและจดบันทึกไว้เสมอ การลดน้ำหนักตัวสำหรับนักกีฬา ไม่ควรลดเร็วเกินไป เพราะร่างกายต้องการการปรับตัวเพื่อให้ยังคงสมรรถภาพที่แข็งแรงไว้ ลดเร็วเกินไปร่างกายปรับตัวไม่ทันก็ข้อเสียเหมือนกัน ซึ่งแมคก้าแนะนำว่า นักกีฬาควรลดน้ำหนักตัวให้ถึง Race Weight ของตัวเองสัก 3 สัปดาห์ก่อนแข่งเพื่อให้ตัวเองรู้สึกพร้อมที่สุดนั่นเอง
ที่มา : Triathlete.com
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ