พรีเรซ เตรียมตัวอย่างไร ให้พร้อมในวันก่อนแข่งไตรกีฬา

การแข่งขันไตรกีฬา ไม่ได้เริ่มที่จุดสตาร์ต แต่เป็นการเริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนแข่ง ดังนั้นก่อนวันแข่งหนึ่งวัน มีหลายจุดที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม มาดูกันว่ามีจุดไหนที่ต้องทำตัวให้พร้อมที่สุดก่อนแข่ง

  1. การเช็คอีเมล์จากผู้จัด : ก่อนถึงวันแข่งขันสักสองสามวัน ลองเช็คอีเมล์จากผู้จัดการแข่งขันดูบ้าง เผื่อมีข้อมูลให้เตรียมตัว เช่นบางรายการแจ้งว่าสภาพน้ำไม่เหมาะสำหรับว่าย ขอเปลี่ยนการว่ายน้ำเป็นวิ่ง เป็นต้น สิ่งนี้จะทำให้เราเตรียมตัว หรือเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมที่สุดได้ เช็คให้เรียบร้อยว่า การนำจักรยานเข้าจุด Transition จะต้องนำเข้าไปก่อนวันแข่งเท่านั้น หรือว่าสามารถนำเข้าจุด Transition ในเช้าวันแข่งได้หรือไม่
  2. เดินทางไปถึงสนามแข่งขันแต่เนิ่น ๆ ในวันก่อนแข่ง : อย่าไปถึงแบบวินาทีสุดท้าย ให้ดูตารางกิจกรรมในก่อนแข่งว่า จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนรับ BIB ได้ตั้งแต่กี่โมง เปิดให้นำจักรยานเข้ากี่โมง การไปถึงจุดแข่งขันแบบวินาทีสุดท้ายของการอนุญาตให้นำจักรยานเข้าจุด Transition อาจทำให้เราไม่มีเวลาเช็คอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
  3. อุปกรณ์ที่ต้องใช้ทุกอย่าง ควรเตรียมให้พร้อมก่อนถึงวันก่อนแข่ง : อย่าไปรอลุ้นซื้อของในงาน expo นะครับ หากต้องใช้เจลที่กินอยู่ประจำ ควรไปซื้อไว้ก่อนมาถึงงาน เพราะบางที งาน expo ในงานจะไม่มีสินค้าหรือเจลยี่ห้อที่เราคุ้นเคยก็เป็นได้ การเปลี่ยนอุปกรณ์หรือแม้กระทั่งการกินที่ไม่คุ้นเคยในวันแข่ง อาจก่อให้เกิดผลการแข่งขันที่ย่ำแย่จนเราคาดไม่ถึงก็ได้
  4. ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนนำเข้าไปเก็บไว้ใน Transition : โดยเฉพาะจักรยาน มีคำแนะนำจากโปรมาว่า อย่าใช้ของใหม่ในการแข่งขัน เช่นการเปลี่ยนยางใหม่มาเพื่อใช้แข่งขัน อาจต้องเอาจักรยานไปลองปั่นหลังเปลี่ยนยางสัก 40-50 กิโลเมตรมาก่อนวันแข่ง เพื่อดูความเรียบร้อยว่าการใส่ยางของช่างซ่อมจักรยานนั้นเรียบร้อยดีหรือไม่ อีกสองจุดที่ต้องตรวจสอบคือ ระบบเกียร์และระบบเบรคของจักรยาน สามารถทำงานได้ดีเป็นปกติหรือไม่
  5. การเดินตรวจดูเส้นทางการแข่งขัน : ให้ลองเดินดูใน Transition ว่า จากจุดที่เราจอดจักรยาน จะต้องวิ่งขึ้นมาจากว่ายน้ำทางไหน จะวิ่งเข้าซอยไหนไปจุดจักรยานของเรา และต้องเข็นจักรยานออกไปทางไหน วิ่งเข้าวิ่งออกทางไหน จำภาพเส้นทางไว้ให้หัว จะได้ไม่ต้องมาวิ่งวนไปวนมาหาทางออกในวันแข่งขัน เพราะว่าวันนั้นนักกีฬาเยอะ ชุลมุนแน่นอน หากมีเวลาเหลือ อาจขับรถไปดูเส้นทางจักรยานที่จะใช้แข่งขันก็ได้ครับ หากไม่ได้ไปลองปั่นในเส้นทางจริง การขับรถดูเส้นทางก็พอช่วยได้ครับ
  6. การฟังบรีฟในวันก่อนแข่ง : เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงแม้ผู้จัดการแข่งขันบางรายการ จะมีการเตรียมตัวเรื่องการบรีฟออกมาเป็นวีดีโอให้ดูกันหลายวันก่อนแข่ง แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการแข่งขัน หรือกฎกติกา บางจุดก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อไปถึงที่สนามแข่ง อย่าลืมแวะไปฟังบรีฟในวันนั้นอีกสักนิด หากไม่มีโอกาสได้ฟังบรีฟ อย่างน้อยก็ควรสอบถามเพื่อนนักไตรกีฬาที่เข้าแข่งขัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นหรือเปล่าอีกสักครั้ง
  7. วันก่อนแข่งให้กินปกติ : เราอาจเคยได้ยินเรื่องการโหลดคาร์บก่อนแข่ง แต่จริง ๆ แล้ววันก่อนแข่ง แนะนำให้กินแบบปกติอย่างที่เราเคยกิน นั่นหมายถึงเรื่องปริมาณและเมนูอาหารที่คุ้นเคย  เครื่องดื่มปกติที่เคยดื่ม อย่าลองของใหม่ที่มีโอกาสทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน อย่ากินเยอะเกินปกติที่เคยกิน จะเป็นการทำให้ร่างกายไม่คุ้นชิน แถมบางทียังเป็นการเพิ่มน้ำหนักส่วนเกินโดยไม่จำเป็นก่อนวันแข่ง
  8. วันก่อนแข่งไม่ควรไปซ้อมแล้ว : ถ้าสังเกตพวกนักไตรกีฬามืออาชีพ วันก่อนแข่งอาจมีแค่ปั่นจักรยานดูเส้นทางแบบเบา ๆ เท่านั้น เราไม่ควรออกไปซ้อมวิ่งหนัก ๆ เพราะสิ่งที่เราซ้อมมาตลอดทั้งปีก่อนแข่ง น่าจะเตรียมร่างกายของเราไว้ดีอยู่แล้ว เรื่องการว่ายน้ำก่อนวันแข่ง หากไม่แน่ใจเรื่องสภาพน้ำ ก็แนะนำว่าไม่ควรลงว่าย เพราะอาจทำให้เป็นหวัดหรือไม่สบายได้ ซ้อมมาทั้งปี มาป่วยก่อนวันแข่งหนึ่งวัน คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
  9. ลดความตื่นเต้น : บางคนอาจมีความตื่นเต้นในวันแข่ง แนะนำให้รีบลงทะเบียน ฟังบรีฟ และนำจักรยานเข้า Transition ให้เรียบร้อย หากไม่มีอะไรที่จะเป็นต้องซื้อในงาน expo ให้รีบกลับห้องพัก หากคิดว่าตนเองเป็นคนตื่นเต้นง่าย ให้เลือกพักโรงแรมที่ไม่ใช่สถานที่จัดแข่งขัน เพราะการอยู่ในบรรยากาศของสถานที่แข่งขันทั้งวัน อาจทำให้ตื่นเต้นไปกับบรรยากาศได้
  10. เข้านอนแต่หัวค่ำ : นักไตรกีฬาบางท่านเลือกปรับเวลานอนก่อนถึงวันแข่งหนึ่งสัปดาห์ เพราะส่วนใหญ่ วันแข่งขันในประเทศไทยของเรานั้น นักกีฬามักจะต้องตื่นประมาณตี 3 หรือตี 4 เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปสถานที่จัดแข่งขันที่มักจะเปิดให้เข้าตั้งแต่ตี 5 และส่วนใหญ่อาจปิดจุด Transition ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ดังนั้นถ้านอนหลับได้เร็วและได้ปริมาณการนอนที่คุ้นเคย ก็จะทำให้ร่างกายพร้อมที่สุด

หวังว่าคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้น่าจะช่วยให้เพื่อน ๆ นักไตรกีฬา ได้นำไปลองใช้ดูนะครับ ขอให้สนุกกับการเล่นและแข็งขันไตรกีฬาในรายการต่อไปนะครับ

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

%d bloggers like this: