การปั่นจักรยานทางไกลระยะ 100 กิโลเมตร ดูเหมือนจะยากหากไม่เคยปั่นมาก่อน แต่ถ้าใครผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว ก็จะพบว่าการปั่นจักรยานทางไกลระยะ 100 กิโลเมตรนั้นสามารถทำไม่ยากอย่างที่คิด ผมว่าระยะ 100 กิโลเมตร เป็นระยะที่กำลังสนุกเลยทีเดียว ไม่เหนื่อยเกินไป และก็ไม่ได้เบาสบายเกินไป
ในช่วงขวบปีแรกที่ผมเริ่มปั่นจักรยานเสือหมอบ ผมก็ได้มีโอกาสลิ้มรสการปั่นจักรยานระยะ 100 กิโลเมตรครั้งแรกในชีวิตของผม ด้วยการปั่นจักรยานจากหน้าสำนักงานของบริษัทเวิร์คพ้อยต์ ที่ถนนเลียบคลองเปรมประชากร โดยปั่นไปถึงจังหวัดอยุธยา แล้วปั่นกลับมาที่เวิร์คพ้อยต์อีกที ระยะทางรวม 100 กิโลเมตรพอดี วันนั้นผมมีความประทับใจในนักปั่นรุ่นพี่ ซึ่งได้ดูแลเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ร่วมก๊วนปั่น เป็นคนบังคับให้พักเมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่เหมาะสม เป็นคนบอกให้กินในเวลาที่จำเป็น ทำให้วันนั้นผมสามารถผ่านการปั่นจักรยานระยะทาง 100 กิโลเมตรได้เป็นครั้งแรกในชีวิต แน่นอนว่า นาทีที่เข็มไมล์บอกระยะทาง แตะหลักกิโลเมตรที่ 100 นั้น ความรู้สึกดีใจ ปลื้มปริ่ม มันไหลมากองรวมกันหมดในนาทีนั้น
ภารกิจพาเพื่อนไปพิชิตการปั่น 100 กิโลเมตรครั้งแรก ในงาน Audax TC 100
จนระยะเวลาผ่านมาสองสามปี ผมได้มีโอกาสพาเพื่อน ๆ ไปปั่นจักรยานระยะทาง 100 กิโลเมตรครั้งแรกของพวกเขากันบ้าง งานนี้เป็นการปั่นจักรยานในรายการ Audax TC 100 ที่สัตหีบ ซึ่งงานแบบนี้ เป็นงานปั่นจักรยานแบบวัดใจตัวเอง มีแผนที่ให้ปั่นตามเส้นทาง โดยต้องมีการเข้าจุดเช็คพ้อยต์ต่าง ๆ เพื่อประทับตรา จะได้เป็นหลักฐานได้ว่านักปั่นได้ปั่นผ่านจุดนั้นมาแล้ว โดยงานนี้ ระยะทางมีการเพิ่มมากกว่าปกติเป็น 111 กิโลเมตร เนื่องจากมีการปิดถนนบางส่วน ทำให้ผู้จัดต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อความปลอดภัย เลยต้องเพิ่มระยะเป็น 111 กิโลเมตร โดยมีเวลาในทั้งหมด 9 ชั่วโมง
ครั้งนี้มีเพื่อนร่วมปั่นทั้งหมด 4 คน คือ ปอม หนู ผม และ เก่งจอฮอ (ชื่อเก่งเหมือนกัน เลยขอเรียกสมญานามว่า เก่งจอฮอ จะได้ไม่สับสน) เดิมทีจะมีอี้หลิงสาวนักไตรกีฬาไปด้วย แต่ป่วยกระทันหันเลยไม่สามารถมาร่วมทีมในวันจริงได้ ซึ่ง ปอม และ หนู คือคนที่จะไปปั่นระยะ 100 กิโลเมตรเป็นครั้งแรก ส่วนเก่งจอฮอนั้นผ่านระยะ 100 กิโลเมตรมาบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าผมและเก่งจอฮอ จะต้องเป็นผู้ช่วยที่จะนำพาทั้งปอมและหนู สองสาวที่จะฝ่าพันระยะ 100 กิโลเมตรนี้ไปให้ได้
ก่อนวันงานหนึ่งสัปดาห์ ผมได้รับเส้นทางการปั่นมากจากเพื่อน และพบว่าการปั่นเสนทาง Audax TC 100 ครั้งนี้ เปลี่ยนแปลงเส้นทางบางส่วน ต่างไปจากครั้งแรกที่ผมเคยปั่นเส้นทางนี้มาก่อน และกลายเป็นว่าเส้นทางใหม่นี้ มีความชันสะสมรวม 600 กว่าเมตร คือสำหรับมือใหม่ที่ปั่น 100 กิโลเมตรครั้งแรก ก็ยากพอแล้ว แต่นี่กลายเป็น 100 กิโลเมตรที่มีการปั่นขึ้นเนินขึ้นเขาร่วมด้วย เห็นความชันแล้วแทบไม่กล้าไปบอกสองสาวเลย
1.รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง
โบราณเคยกล่าวไว้แบบนี้ ดังนั้นการเตรียมตัวในการปั่นครั้งนี้ ทั้งฝั่งข้าศึก ก็คือสภาพถนนหนทางและเส้นทางความชันต่าง ๆ ที่เราจะต้องไปทำความรู้จักนั้น ผมวางแผนที่จะเดินทางไปล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนวันจริง เพื่อที่จะขับรถไปดูถนนและเส้นทางต่าง ๆ เพื่อเอาไว้ดูว่าต้องพักจุดไหนบ้าง หรือถนนหนทางตรงไหนที่ต้องระวังอันตรายบ้าง และที่สำคัญ ขอไปแอบดูความชันหน่อยว่าเป็นเนินชันซึม ๆ ยาว ๆ หรือว่าชันมาก ๆแต่สั้น ๆ กันแน่
ในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องดูความฟิตของเพื่อนร่วมทริป แข็งแรงขนาดไหน หรือมีเงื่อนไขอะไรบ้าง โดยรอบนี้เรามีเงื่อนไขว่า อยากพักทุก 25 กิโลเมตร เพราะว่าเพื่อนบางคนปั่นนาน ๆ แล้วตัวชา เลยต้องขอพักยืดแข้งยืดขาหน่อย สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเก็บเอามาคิดวางแผน
2. จัดเตรียมทีมเซอร์วิสให้พร้อม
เมื่อครั้งที่ผมปั่น 100 กิโลเมตรแรกนั้น เป็นการปั่นไปกันเองกับกลุ่มเพื่อน ไม่ได้มีรถ service บริการ แต่ครั้งนั้นก็มีรุ่นพี่นักปั่น ปั่นไปดูแลกัน แต่ครั้งนี้ เป็นการปั่นแบบ Audax ซึ่งมีจุดเช็คพอยต์หลายจุด สามารถให้รถเซอร์วิสของตัวเองมารอในจุดเช็คพอยต์ได้เท่านั้น ไม่สามารถไปขับรถเซอร์วิสตามนักปั่นได้ งานนี้มีเจ้แหม่ม TriQ และน้องโบมารับอาสาเป็นทีมเซอร์วิส ซึ่งสิ่งที่เราจัดเตรียมให้ทีมเซอร์วิสก็คือขับพาดูเส้นทาง และเตรียมจุด GPS Location ไว้ให้ทีมเซอร์วิสขับตรงมารอที่จุดพักได้เลย ที่สำคัญคือเราทำตามกฎระเบียบของงาน Audax ทุกอย่าง
สำหรับสิ่งที่ทีมเซอร์วิส เตรียมไว้ให้เราก็คือ อาหารต่าง ๆ ตั้งแต่ข้าวเหนียวหมูย่าง ข้าวห่อสาหร่าย ซาลาเปา ตลอดจนไปถึงเครื่องดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำดื่มต่าง ๆ และผ้าเย็น ที่มีเตรียมให้ทันทีหลังจากทีมปั่นของเราเข้าจุดเช็คพ้อยต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยประหยัดเวลาจัดหาซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งบางครั้งอาจต้องไปต่อคิวและเสียเวลาได้ เราจึงได้ใช้เวลาในการพัก เพื่อพักได้อย่างเต็มที เรียกว่าโฟกัสที่การปั่นอย่างเดียวได้เลย
3. วางแผนให้รอบคอบ คำนวนเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาด
แผนการปั่นที่ผมวางไว้คือการปั่นอยู่บนจักรยานไม่เกิน 6 ชั่วโมง และให้เวลาพักได้จุดละไม่เกิน 20 นาที รวมเวลาพักทุกจุดเช็คพอยต์และจุดพักพิเศษหากปั่นเกิน 25 กิโลเมตรแล้ว ตกเวลาพักรวมได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 1 ชั่วโมงก็กันไว้เผื่อมีใครยางแตกและต้องเสียเวลาเปลี่ยนยาง หากทำได้ตามนี้ คิดว่าการพิชิต 100 กิโลเมตรแรกสำหรับมือใหม่ ก็ไม่น่าจะยากมากนัก
4. ทำตามแผนที่วางไว้ แต่ปรับเวลาต่าง ๆ ให้เหมาะเพื่อตอบโจทย์เวลารวม
เริ่มต้นการปั่น เรามุ่งหน้าออกจากจุดปล่อยตัว มุ่งหน้าไปที่จุดเช็คพ้อยต์แรกที่รอเราอยู่ที่ระยะหลักกิโลเมตรที่ 42 ซึ่งดูแล้วจุดเช็คพ้อยต์แรกห่างไปหน่อย เราจึงนัดแนะกันว่าเราจะหยุดพักครั้งแรกกันที่กิโลเมตรที่ 25 ซึ่งเส้นทางการปั่นตลอด 25 กิโลเมตรแรก ค่อนข้างเป็นเส้นทางทีคุ้นเคย แต่เป็นเนินนวดเราไปตั้งแต่กิโลเมตรที่ 15 ถึงกิโลเมตรที่ 25 ทำให้เราใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้
เมื่อถึงจุดพักแรกที่ 25 กิโลเมตร เรามาถึงช้ากว่าที่วางแผนไว้ จึงกลายเป็นว่าที่พักจุดแรกนี้เราจะได้เวลาพักแค่ 10 นาทีแทนที่จะเป็น 20 นาที ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีปัญหา เพราะนักปั่นในทีมหน้าตายังสดใสอยู่ อายไลน์เนอร์ยังเต็ม พักแป๊บเดียวก็น่าจะฟื้นพร้อมปั่นต่อได้
เราเริ่มออกตัวปั่นต่ออีกครั้ง แต่คราวนี้แดดเริ่มแรงขึ้น โชคดีที่นักปั่นของเราใจสู้ทุกคน เนินต่าง ๆ ที่เราเจอในช่วงนี้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือถนนหลายช่วงเป็นถนนที่ไม่ค่อยดี ซึ่งเกิดจากถนนเสียจากการผ่านฤดูฝน เป็นหลุมเป็นบ่อบ้าง หรือเจอทรายบนถนน ซึ่งผมต้องบอกให้เพื่อนร่วมทีมลงจากจักรยานและเข็นผ่านจุดที่มีทรายไปก่อน ค่อยขึ้นไปปั่นใหม่ เรียกว่าเราเน้นปลอดภัยไว้ก่อน เพราะทรายเหล่านี้ทำให้นักปั่นจักรยานคว่ำมานักต่อนักแล้ว เลยไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ในการปั่นทางไกลครั้งนี้ ใช้เวลาไม่นาน เราก็มาถึงจุดเช็คพ้อยต์ที่ 1
5. กินอาหารและน้ำอย่าให้หิว
การปั่นจักรยานทางไกล ส่วนสำคัญนอกจากการซ้อมมาแล้ว ก็คือการกินอาหารและน้ำ ที่แนะนำว่าอย่าให้รู้สึกหิว เพราะถ้าหิว แปลว่าเรากินช้าเกินไปแล้ว โดยปกติการปั่นจักรยาน 1 ชั่วโมงจะใช้พลังงานประมาณ 400 แคลอรี่ ซึ่งหากปั่น 6 ชั่วโมงเต็ม เราจะใช้พลังงานรวมมากกว่า 2,000 แคลอรี่แน่นอน ซึ่งโดยปกติแล้ว ชายไทยจะมีค่าเฉลี่ยในการใช้พลังงานเพื่อดำรงชีวิตประมาณ 2,000 แคลอรี่อยู่แล้ว หากปั่นอีก 6 ชั่วโมงเราต้องใช้พลังงานเพิ่มอีก 2,000 แคลอรี่ นั่นหมายถึงวันนี้จะต้องใช้พลังงาน 4,000 แคลอรี่ หากกินไม่พอ หรือดื่มน้ำไม่พอ ก็จะทำให้เกิดการขาดสารอาหาร อาจเป็นตะคริว หรืออาจหมดแรง หน้ามืด เกิดอุบัติเหตุได้
เรามาถึงจุดเช็คพอยต์ที่ 1 ก็เจอทีมเซอร์วิสของเรารออยู่แล้ว พร้อมด้วยอาหารการกินจัดเต็มอย่างที่ว่า เราแทบไม่เสียเวลาไปกับอย่างอื่นเลยนอกจากการกิน และเติมน้ำในกระติก หยิบอาหารสำรองใส่กระเป๋าหลังเสื้อไปเตรียมให้พร้อมสำหรับด่านต่อไป
6. ลดอุณหภูมิร่างกายบ่อย ๆ
การปั่นจักรยานทางไกล มักจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะเจอแสงแดดบวกกับการปั่นยาวนานที่ก่อให้เกิดความร้อนจากร่างกาย เมื่ออุณหภูมิร่างกายเริ่มสูงขึ้น จะส่งผลไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น เราออกจากจุดเช็คพ้อยต์ที่ 1 ด้วยการติดแอร์ไว้กับตัว โดยเอาผ้าเย็นที่เอามาห่อน้ำแข็งแล้วยัดใส่หลังเสื้อให้มันแปะอยู่ที่ช่วงหลังคอ พอเราปั่นออกไปเจ้าน้ำแข็งก็จะค่อย ๆ ละลาย เหมือนเรามีแอร์ติดอยู่กับตัวตลอดเวลา ส่วนอีกเทคนิคหนึ่งก็คือเอาน้ำแข็งใส่ในกระติก แล้วใช้น้ำจากกระติกนั้นคอยราดหัว ราดตัวอยู่บ่อย ๆ เรียกว่าปั่นมานี่ตัวเปียกตลอดเวลา ทั้งเหงื่อทั้งน้ำราดตัว
7. ไปกันเป็นทีม ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
จุดเช็คพ้อยต์ที่ 2 จะห่างออกไปอีก 40 กิโลเมตร ปั่นออกไปเจอเนินท่ามกลางอุณภูมิสูงลิบช่วงเวลา 11 โมงถึงเที่ยงครึ่ง ช่วงนี้เราเจอเนินชันกันหลายลูก ผมแอบหันไปดูเพื่อน ๆ เป็นระยะ ๆ เห็นเพื่อน ๆ แข็งแรงดีอยู่ เช่นพี่ปอมที่ปั่นแซงทุกคนขึ้นเนินไปได้ตลอด เพราะกล้ามขาแข็งแรงมากจากการฝึกซ้อมหนักเพื่อเอาไว้วิ่งเทรลขึ้นเขา ส่วนเก่งจอฮอก็ประสบการณ์สูงแม้ไม่ถนัดงานขึ้นเขา แต่งานลงเขาแบบลู่ลมก็ไม่เป็นรองใคร ทำให้ตามทันเพื่อน ๆ ได้ทุกครั้งเมื่อลงเขามา ส่วนหนูนั้น ผมดูแล้วเห็นหลายครั้งหนูถูกทิ้งระยะห่าง เลยพยายามชะลอความเร็วเพื่อรอบังลมลากกลับไปรวมกลุ่ม
ผมเคยมีประสบการณ์ถูกทิ้งไว้กลางทาง ปั่นเดี่ยว ๆ มาหลายสิบกิโลเมตร มันท้อแท้ แน่นอนว่าครั้งนี้เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอนแรกก็กังวลว่าหนูซึ่งอาจดูซ้อมปั่นมาน้อยกว่าคนอื่น อาจจะต้องให้เพื่อนรอนานเพราะงานนี้เนินเยอะจริง ๆ แต่ผมกลับพบว่า แววตาที่สู้ ไม่คิดจะลงเข็นนั้นแรงกล้าทะลุแว่นกันแดดออกมาเลยทีเดียว ผมเห็นหนูกดลูกบันไดขึ้นเนินมาแบบไม่หยุดลงเข็น งานนี้ต้องนับถือใจนักปั่นมือใหม่กันเลยทีเดียว
8. หลีกเลี่ยงการปั่นช่วงเวลาเที่ยง
เรากลับมาถึงจุดเช็คพ้อยต์ที่ 2 ในเวลาเที่ยงครึ่ง ซึ่งของเดิมเราวางแผนว่าจะพักแค่ไม่เกิน 20 นาที แต่พอดูเวลารวมแล้วถือว่าเราทำเวลาได้เร็วกว่าปกติ และตอนนี้ก็เป็นเวลาเที่ยงครึ่งที่อุณภูมิ์ 40 องศา เราจึงตัดสินใจพักจุดนี้กันนานหน่อย รวมเวลาพักในจุดนี้ประมาณ 40 นาที ได้กินมือเที่ยงพร้อมพักหลบแดดให้อุณภูมิร่างกายลดลงแล้วค่อยไปต่อ ผมเคยฝืนปั่นช่วงแดดแรงอย่างตอนเที่ยงถึงบ่ายสอง แล้วพบว่าส่วนใหญ่ปั่นกลางแดดได้ไม่นานมากเพราะแทบจะต้องพักกันทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง หลัง ๆ ผมเลยพักตอนเที่ยง ๆ กินข้าวไปด้วยหลบแดดไปด้วย ดูเป็นแผนที่จะเหมาะกว่าในการปั่นทางไกล
9. เลือกเทคนิคการปั่นออมแรงให้เหมาะสม
หลังจากออกจากจุดเช็คพ้อยต์ที่ 2 ในเวลาบ่ายโมงกว่า ๆ เราก็มุ่งหน้าไปสู่จุดเช็คพ้อยต์ที่ 3 ที่อยู่ห่างออกไป 14 กิโลเมตร ตอนนี้เราเจอเส้นทางแบบ rolling คือเป็นเขาขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดทาง ซึ่งเวลาเราปั่นมาแล้ว 80 กิโลเมตร ก็จะมาพร้อมกับแข้งขาที่เริ่มอ่อนล้า เวลาเจอเส้นทาง rolling เหล่านี้เราสามารถออมแรงได้ โดยการปั่นลงมาจากเนินโดยไม่ปล่อยฟรีขา แต่ปั่นลงมาเพื่อเพิ่มแรงส่งให้ขึ้นเนินถัดไปให้ได้สูงที่สุด หากขึ้นไม่ถึงยอด เราก็จะออกแรงกดบันไดขึ้นเนินในระยะทางที่ไม่ไกลมาก
เมื่อเทียบการปล่อยฟรีขาลงเนินมา เวลาจะขึ้นเนินถัดไปมักจะต้องเติมแรงเติมขาเยอะ เป็นการทำให้ขาอ่อนล้ามากขึ้นไปอีก บ่ายวันนั้นถ้าใครเห็นนักปั่นชายหญิงสองคนใส่เสื้อสีส้มของ TriQ ปั่นลงเนินกันฉิว ๆ นั่นก็คือหนูและผมเองครับ เราเข้าสู่จุดเช็คพ้อยต์ที่ 3 ซึ่งเป็นจุดเช็คพ้อยต์สุดท้ายก่อนถึงเส้นชัยแบบสภาพร่างกายแข็งแรงกันทุกคน ที่จุดนี้เราแวะเข้าประทับตราในบัตรเช็คพ้อยต์ตามด้วยเติมน้ำในกระติกแล้วก็รีบออกต่อกันเลย
10. เฉลิมฉลองเมื่อถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
วิ่งออกจากเช็คพ้อยต์ที่ 3 ที่ประมาณกิโลเมตรที่ 94 ซึ่งยังเหลือระยะทางอีกประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นช่วงสุดท้ายที่ยังพอมีเนินอยู่บ้าง แต่เป็นเนินที่พวกเราเคยมาซ้อมปั่นกันแล้วหลายครั้ง จึงเป็นเส้นทางที่ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือการที่ขาของเราปั่นกันมาก่อนหน้านี้ 94 กิโลเมตร มันย่อมต่างจากขาที่ปั่นมาแค่ 30 กิโลเมตรแล้วมาเจอเนินนั้น
สิ่งที่ต้องคอยระมัดระวังคือทุกคนน่าจะเริ่มเหนื่อยล้า แต่มองสีหน้าทุกคนแล้วก็ยังดูสดใสกันอยู่ ดูยังมีแววตาที่จะอยากพิชิตเส้นทาง 100 กิโลเมตรครั้งแรกกันอยู่ เอ้า งั้นไปกันต่อครับ ปั่นมาเจอเนินที่ว่า ทุกคนปั่นขึ้นกันอย่างไม่ย่อท้อและไม่หยุดพัก นี่เป็นเนินใหญ่ลูกสุดท้าย
เราปั่นลัดเลาะเลียบสนามกอล์ฟพลูตาหลวงออกมาได้ซักพัก ผมแอบเหลือบตาไปเห็นระยะไมล์บอกระยะ 100 กิโลเมตร เลยปั่นไปข้าง ๆ หนูแล้วกระซิบเบา ๆ บอกว่าถึง 100 กิโลเมตรแล้วนะ หนูตะโกนดีใจ ผมก็อดอมยิ้มไปด้วยไม่ได้ เพราะจำได้เลยว่า เมื่อครั้งแรกที่ผมเคยทำได้ ผมดีใจขนาดไหน การที่จะปั่น 100 กิโลเมตรได้ มันก็ต้องซ้อมมาบ้าง ไม่ใช่ว่าจะทำได้เลยทันที ดังนั้นผมเลยคิดว่า หากออกทริปปั่น แล้วมีเพื่อน ๆ ไปด้วยกันหลายคน ลองตั้งเป้าหมาย เช่น จะไปพิชิตยอดเขาลูกนั้น เมื่อไปถึงยอด ก็เฉลิมฉลองดีใจกันด้วย เป็นการเสริมสร้างกำลังใจกันด้วย อย่างครั้งนี้ ระยะ 100 กิโลเมตรคือระยะทางที่ทุกคนอยากจะพิชิต ดังนั้น 100 กิโลเมตรของทีมเรา ย่อมดีใจมากกว่าจบเส้นทาง 111 กิโลเมตรซะอีก
สุดท้าย เราปั่นเลียบชายหาดจนมาจบที่จุดสิ้นสุดที่วัดสัตหีบ ได้ก่อนระยะเวลาที่เราคิดไว้ ผมเห็นหน้าเปื้อนยิ้มของเพื่อนร่วมทีมทุกคน บางคนร้องไห้ดีใจเพราะไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ บางคนเพิ่งปั่นจักรยานเป็นเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้ แต่วันนี้ทุกคนมาปั่นจักรยานร่วมกันที่ระยะทาง 111 กิโลเมตร ต้องนับถือสภาพจิตใจและร่างกายที่ฝึกซ้อมกันมามาก เพราะเส้นทางร้อยกว่ากิโลในวันนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะมีเนินเขารอต้อนรับเรามากมาย
ขอขอบคุณ
- ผู้จัดงานที่จัดเตรียมเส้นทาง และคิวชีทต่าง ๆ ให้เราได้ปั่นกันสนุก
- ขอบคุณทีมเซอร์วิสของ TriQ ทั้งเจ้แหม่มและน้องโบ ที่จัดของกินมาเหมือนยก 7-eleven มาไว้ท้ายรถ แถมมีบริการเติมน้ำในกระติก โดยนักปั่นไม่ต้องเติมเองเลย ถ้าป้อนข้าวให้ได้คงป้อนแล้ว
- ขอบคุณพี่ปอม ที่ร่วมปั่นและเป็นคนนำขบวนขึ้นเขาโดยตลอด ๆ
- ขอบคุณเก่งจอฮอ ที่โชว์ท่าแอโร่วลงเขาให้พวกเราชมเป็นขวัญตา
- ขอบคุณหนู ที่มาร่วมเล่นเป็นเพื่อน รู้ว่าเหนื่อย แต่เห็นสู้ยิบตา
- ขอบคุณอี้หลิง ที่ป่วยพอดีมาร่วมทีมไม่ได้ แต่ยังส่งรายละเอียดเส้นทางมาให้พวกเราได้เตรียมตัวก่อน
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ