ผมห่างหายจากการแข่งขันไตรกีฬาไปกว่าสามเดือน และงานแข่งไตรกีฬาที่ผมสมัครไว้ก็อยู่เดือนตุลาคมและพฤศจิกายนเท่านั้น ทำให้เริ่มคิดถึงการแข่งขันเพราะห่างไปนาน
จนมีงาน TOA Supershield RockMan Triathlon จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน ที่อ่างเก็บน้ำห้วยไม้เต็ง จังหวัดราชบุรี ผมตัดสินใจได้ไม่ยากที่ลงสมัครแข่งขันรายการนี้ในระยะ sprint เพื่อเป็นการเคาะสนิมและเรียกความตื่นตัวในการแข่งขัน และเพื่อเป็นการเริ่มซ้อมเพื่องานที่ผม focus มากที่สุดของปีคืองาน Laguna Phuket Triathlon ที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้
เมื่อใกล้ถึงวันแข่งขัน ก็คิดว่าร่างกายตัวเองยังไม่อยู่ในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนที่เคยเป็นในช่วงปีที่แล้ว ความฟิตก็ยังพอมีอยู่บ้างเพราะก็ยังซ้อมเรียกความฟิตอยู่เรื่อย ๆ แต่คิดว่ากล้ามเนื้อน่าจะยังไม่สมบูรณ์ถึงขีดที่เคยทำได้ เพราะไม่ได้ซ้อมด้วยความเข้มข้นสูงมากนักในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา
เมื่อประเมินสภาพร่างกายตัวเองแล้ว ผมก็เริ่มวางเป้าหมายการแข่งขันครั้งนี้ว่า ขอวิ่งเข้าเส้นชัยในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์คือ ไม่เจ็บไม่เป็นตะคริว เมื่อกำหนดเป้าหมายได้แล้ว วางแผนคร่าวๆ ทันทีว่า ว่ายน้ำแบบ moderate แล้วไปปั่นจักรยานต่อด้วยความหนักหน่วงแค่ moderate ไม่สร้างภาระให้กล้ามเนื้อขามากนัก แล้วเก็บขาไปวิ่ง ได้แค่ไหนแค่นั้น ให้จบเข้าเส้นชัยแบบไม่เจ็บเป็นพอ
แผนนี้ผมเคยใช้ตอนแข่ง elimination dash รอบแรกที่เน้นแค่ผลเพื่อให้เข้ารอบ ไม่ต้องทำให้เร็วที่สุดก็ได้ และเคยใช้อีกทีนึงก็ตอนแข่งระยะ Olympic ครั้งแรกในงาน Pattaya Triathlon ปีก่อน ทำให้พอรู้ว่า แผนนี้คือใช้ความอดทนอดกลั้นไม่ให้ไปแข่งขันกับคนอื่นๆ ให้ได้ เพราะเป็นแผนที่คุมความเร็วคุมความหนักหน่วงของตัวเอง ซึ่งมักทำได้ยากในสถานการณ์ของการแข่งขัน
หนึ่งวันล่วงหน้าก่อนวันแข่งขัน ผมมาถึงอ่างเก็บน้ำห้วยไม้เต็งในตอนเย็น และได้ชวนเพื่อน ๆ ไปปั่นสำรวจเส้นทางการแข่งขันจักรยานหนึ่งรอบ ทำให้พอเห็นสภาพเส้นทางว่า จุดไหนต้องเก็บแรง จุดไหนต้องทำความเร็ว
เช้าวันแข่ง ผู้จัดเปิดให้เอาจักรยานเข้าจุด Transition ได้ในช่วงเช้า เมือจัดเตรียมของใน Transition เสร็จแล้ว ผมก็ใช้เวลาช่วงนี้ก่อนที่ จุด Transition จะปิด เดินสำรวจเส้นทางขึ้นจากน้ำ เข้ามา Transition ว่าต้องวิ่งเข้ามาทางเส้นไหน ดูว่าทางออกจักรยานไปทางไหน ครั้งนี้ผมเดินสำรวจตลอดเส้นทาง Transition เอาเท้าไปสัมผัสพื้นเส้นทางทุกช่วงเพื่อประเมินสภาพพื้นว่าวิ่งได้แค่ไหน เพราะพื้นเป็นพรมที่ปูบนทางลูกรัง ก็จะมีเศษหินต่าง ๆ อยู่ใต้พรมนั่นเอง เดินเลยไปดูจุดขึ้นจักรยาน พบว่าเป็นจุดที่มีเศษกรวดอยู่บนถนน อาจจะลื่นหรือเสียหลักได้ตอนขึ้นจักรยาน เลยมองจุดที่เราอยากจะขึ้นจักรยานไว้ก่อนเลย หลังจากนั้นเดินกลับลงมาดูว่า ถ้ามาจากช่วงจักรยานแล้วจะเข้า Transition จะต้องเข้าตรงไหน เลี้ยวซอยไหน พร้อมเดินดูเส้นทางว่าจะออกวิ่งทางไหนให้เรียบร้อย เมื่อสำรวจครบ จำภาพในหัวได้แล้วว่า จะเข้าจะออกทางไหนบ้าง ก็เดินไปรวมตัวกับเพื่อน ๆ TriQ และเพื่อน ๆ ironguides ที่อ่างเก็บน้ำ
ผมเตรียมตัวลงไปวอร์มร่างกายพร้อมกับ Yakkiee Pom เพื่อลงไปชิมว่าน้ำอร่อยไหม และสัมผัสพื้นน้ำว่าสภาพน้ำเป็นอย่างไร สภาพพื้นผิวใต้น้ำเป็นอย่างไร วิ่งลงไปได้ไหม หรือวิ่งขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ก็พบว่าพื้นผิวใต้น้ำในช่วงที่จะขึ้นจากน้ำ มีหินกรวดใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก ถ้าวิ่งอาจเท้าแหกได้ เลยคิดไว้ว่าจะแค่เดินขึ้นมาก็พอ พอเข้าเขตปูพรมของ Transition ได้ค่อยวิ่งเข้าไป
ช่วงปล่อยตัว ผมไปยืนแถวหน้าพร้อม ๆ กับเพื่อน ๆ จาก ironguides เพราะงานนี้ปล่อยตัวผู้เข้าแข่งขันพร้อมกันทั้งรุ่น ไม่มีแบ่งปล่อยตัว จึงเลือกที่จะอยู่ด้านหน้า แล้วให้คนว่ายเร็ว ๆ แซงไปก่อน และก็จะเลี่ยงการที่เส้นทางว่ายน้ำจะถูกขวางด้วยคนที่ว่ายน้ำช้ากว่าเรา
สัญญานปล่อยตัวดังขึ้น ทุกคนต่างกระโจนลงน้ำ แน่นอนว่าเราได้ประเมินเหตุการณ์ชุลมุนไว้แล้ว จึงไม่ค่อยตกใจเท่าไหร่ ใช้สมาธิหาเส้นทางว่ายน้ำที่จะไม่ถูกขวางทาง สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองว่ายออกตัวเร็วไปหน่อย จึงดึงจังหวะว่ายให้ช้าลง แล้วก็ค่อยๆ ว่ายฉีกออกวงนอก เพราะคิดว่าน่าจะว่ายได้สะดวกกว่าโดนขวางทางอยู่ด้านใน
ผมว่ายไปเรื่อย ๆ ไปทันกับกลุ่มช้าของรุ่น Standard ที่ปล่อยตัวก่อนหน้า พบว่านักว่ายน้ำมือใหม่ ที่ยังซ้อมมาไม่เยอะ ก็จะใช้การว่ายกบเป็นส่วนมาก ซึ่งสิ่งที่ยากสำหรับผมก็คือทำยังไงให้ว่ายฝ่าฝูงกบนี้ไปให้ได้
การฉีกออกทางนอกยังคงเป็นทางเลือกหลัก แต่ถ้ามันจะอ้อมมากเกินไปเมื่อไหร่ ก็จะให้วิธีว่ายแทรกแก็งค์มนุษย์กบไป โชคดีที่นักกีฬาไม่เยอะมากจนเกินไป ทำให้พอที่จะมีที่ให้แทรกไปได้ ผมค่อย ๆ คุมความเร็วไม่ให้เร่งจนเกินไป เพราะเดี๋ยวยังต้องใช้กล้ามเนื้อและหัวใจอีกมาก
เมือพ้นเหลี่ยมโค้งสุดท้าย พอว่าแสงอาทิตย์ยามเช้าที่สวย ๆ มันแยงตาเต็ม ๆ บวกกับแว่นตาว่ายน้ำก็โดนฝ้าจับด้วยพอดี แต่ก็พยายามกัดฟันว่ายต่อโดยเล็งไปที่แท็งน้ำประปาที่เป็นเสาสูง ๆ ด้านหลังจุด Transition แล้วก็มุ่งหน้าต่อไป จนว่ายมาถึงใกล้ๆ ฝั่ง เห็นคนหน้าเริ่มลุกขึ้นเดิน ผมก็มือถึงพื้นพอดี ลุกขึ้นจากน้ำ วิ่งเข้าจุด Transition ต่อไป
ช่วงจังหวะวิ่งขึ้น เป็นทางขึ้นเนินนิดหน่อย ก็ค่อย ๆ วิ่งเหยาะ ๆ ไป เมื่อถึงจุด Transition ของตัวเองก็รีบคว้าหมวกคว้าบิ๊บใส่ แล้วคว้าจักรยานวิ่งออกไปเลย
จังหวะขึ้นจักรยาน ก็เลือกทำเลตอนขึ้นไม่ให้มีทรายเยอะ ออกตัวไปได้อย่างปลอดภัย จังหวะใส่รองเท้าจักรยานก็พยายามทำให้เสร็จก่อนที่จะพ้น 500 เมตรแรก เพราะหลังจากนั้นจะเป็นจังหวะเลี้ยวโค้งพอดี ซึ่งก็ทำได้ตามแผน
เส้นทางจักรยานในวันแข่งขัน มีการกวาดถนนในจุดที่มีรถขนดินทำดินหกไว้เป็นระยะๆ ออกไปเยอะทีเดียว เมื่อเทียบกับตอนไปสำรวจเส้นทางเมื่อวาน วันแข่งลมไม่แรงเท่าวันซ้อม ก็ได้แต่ปั่นคุมความเร็วที่วางแผนไว้ ช่วงปั่นนี้ ผมโดนจักรยานแซงไปเกิน 20 คันเลยทีเดียว
กลับเข้ามาอีกทีในจุดก่อนเข้า Transition ผมเตรียมตัวถอดรองเท้ามาตั้งแต่เกือบหนึ่งกิโลเมตรก่อนถึงจุด Transition ซึ่งตรงจังหวะลงจากจักรยาน ผมต้องใช้สมาธิอย่างหนัก เพราะเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันแข่ง ผมซ้อมลงจากจักรยานแล้วพลาดคว่ำ จักรยานถึงกับตีลังกา ส่วนตัวผมก็พุ่งเป็นซุปเปอร์แมนเลย คราวนี้เลยต้องใช้สมาธิสูงมาก ซึ่งก็ทำได้ไม่พลาดเหมือนตอนซ้อม รอดไป!
จังหวะที่เข็นจักรยานเข้าจุด Transition นี่เป็นทางลงและทางก็ไม่เรียบ ผมวิ่งเข็นลงมาแถมต้องกดเบรคจักรยานไปด้วย เพราะมันกระเด้งกระดอนไปมาอย่างหนัก แต่พอลงจากทางลาดลงมาได้ก็เก็บจักรยาน พร้อมใส่รองเท้าวิ่งออกไป แอบเช็คสภาพขาตัวเอง ก็ถือว่ายังเฟรชอยู่ ยังไม่มีอาการตะคริวมารบกวน
การวิ่งครั้งนี้ ผมพยายามดูนาฬิกาให้น้อยลง แต่ใช้ความรู้สึกและอาการของร่างกายเป็นตัวกำหนดความเร็ว และใช้เหลือบตามองนาฬิกาเพื่อเช็คความเร็วในบางจังหวะเท่านั้น
ไม่ทันพ้นหนึ่งกิโลเมตรแรกก็เจอสิ่งที่ไม่คาดฝันคือเนิน ตอนแรกคิดว่าเป็นทางราบซึม ๆ แต่นี่ดันมีเนินดักอยู่ แปลว่าขากลับก็ต้องเจอเนินอีกครั้ง แต่ก็พยายามไม่สนใจสิ่งนี้เพราะ ถ้าเราเจอมัน คนอืนก็จะมันด้วยเช่นกัน
ครั้งนี้ผมพยายามวิ่งแบบ negative split เหมือนเคย แต่ความเร็วที่ใช้ก็เป็นไปตามสภาพร่างกาย แต่ผมก็ค่อย ๆ เร่งความเร็วขึ้นไปทีละนิด ค่อย ๆ ลดระยะห่างจากคนข้างหน้าเข้าไปทีละนิด พอถึงจุดกลับตัวนั่นหมายถึงระยะทางจากตรงนี้ จนถึงเส้นชัยจะเหลืออยู่แค่อีก 2.5 กิโลเมตร ผมเริ่มค่อย ๆ เร่งความเร็วมากขึ้นอีก แต่กว่าจะแซงได้แต่ละคนก็ไม่ง่าย เพราะคนที่อยู่ก่อนหน้าผม ก็เป็นคนที่วิ่งเร็วกว่าผมทั้งนั้น เลยใช้เวลาอยู่กับตัวเอง คุมความเร็วที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยและความล้าของกล้ามเนื้อขา
ผมคุมจังหวะความเร็วเพิ่มขึ้นไปเรื่ยๆ จนมาถึงเนินสุดท้ายที่เจอตอนขามา ตอนนี้เนินมันดูชันกว่าความเป็นจริงสิบเท่า การวิ่งแต่ละก้าวที่ขึ้นเนินนี้มาพร้อมกับการบดขยี้กล้ามเนื้อหน้าขาและกล้ามเนื้อน่อง แต่โชคดีที่การเก็บออมแรงและออมการใช้งานกล้ามเนื้อเอาไว้ มาช่วยทำให้การขึ้นเนินนี้ยังวิ่งขึ้นไปได้โดยไม่หยุดเดินใด ๆ เมือพ้นเนิน ก็เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรแล้ว ผมเร่งความเร็วเพิ่มไปอีก เท่าที่กล้ามเนื้อมันจะไหว
ถึงตรงนี้ อีกแค่ 100 เมตรจะถึงเส้นชัย ผมเจอคนที่อยากให้มายืนรอ ผมรู้สึกว่าได้ทำเต็มที่กับวันนี้ ทำได้ตรงกับแผนที่วางไว้ และแผนที่ใช้ก็จบการแข่งได้สมบูรณ์กับเข้ากับสภาพร่างกายของผมในวันนี้ที่สุด
ผมเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 26 Overall รู้สึกมีความสุขกับผลการแข่งขันมาก แม้ว่ามันไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยทำได้ แต่วันนี้ทำได้ดีสำหรับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ ผมพบว่าความสนุกของการแข่งขัน บางครั้งไม่ได้อยู่ที่อันดับเวลาที่ดีเสมอไป หากเราตั้งเป้าหมายของเราเอาไว้ แล้วเราทำมันสำเร็จตามเป้า ก็เป็นความสนุกได้เหมือนกัน
ขอขอบคุณ Mikkie Nu ที่วันนี้มาช่วยเตรียมตัวทุกอย่าง เป็นกำลังใจที่สำคัญที่สุด พร้อมมาช่วยถ่ายภาพให้กับทีมด้วย ขอบคุณเพื่อน ๆ TriQ ที่มีพี่ปอมมาแข่งด้วย ขอบคุณเพื่อน ๆ ironguides และ ABAV ที่มาร่วมแข่งและสร้างบรรยากาศฮึกเหิมให้กับผม และยินดีกับอี้หลิง Kannathakorn Rattanawenawatee ด้วยที่คว้ารางวัลติด podium มาได้ ไว้รอบหน้าไปสนุกกันใหม่
แต่ตอนนี้ต้องเริ่มกลับเข้าโปรแกรมการซ้อม เพื่อเตรียมตัวไปแข่ง Laguna Phuket Triathlon ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของปีนี้ในอีกเกือบสามเดือนข้างหน้าแล้วครับ
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ